คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจากให้ออกเป็นลดขั้นเงินเดือน 4 ขั้น จึงถือได้ว่าการลงโทษทางวินัยในข้อหาที่เป็นการกระทำผิดแก้ไขเพิ่มเติมใบเสนอราคาขายเป็นที่สุดโดยโจทก์และจำเลยต่างพอใจในการลงโทษไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏต่อมาว่า จำเลยได้ร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในการกระทำครั้งเดียวกับความผิดทางวินัยเป็นมูลความผิดทางอาญาอีก และศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อหาก็ตาม ก็เป็นความรับผิดทางอาญาของโจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแยกพิจารณาจากความผิดทางวินัยของโจทก์ได้ เมื่อผลของคดีอาญาไม่ทำให้โจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลยต่อไปจำเลยก็จะนำเอาการกระทำอันเดียวกันซึ่งโจทก์ถูกลงโทษทางวินัยไปแล้ว และเป็นเหตุซ้ำซ้อนเหตุเดียวกันมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์อีกไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝึกอบรมฝ่ายธุรการ ประจำสำนักอำนวยการในอัตราเงินเดือนเดือนละ 8,200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปและชำระค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ค้างจ่ายจำนวน 161,460 บาท หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ก็ให้ชำระค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ค้างจ่ายจำนวน 161,460 บาท พร้อมด้วยค่าจ้างหรือเงินเดือนนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุการทำงานจำนวน 984,000 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 213,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งที่ 172/2534 ไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานและอื่น ๆ เป็นคำสั่งของจำเลยที่ชอบแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 84/2532 ต่อมามีคำสั่งที่ 133/2532 จนกระทั่งมีคำสั่งที่135/2532 ให้ลงโทษโจทก์โดยพักงาน งดจ่ายเงินเดือน และงดใช้สิทธิทุกประเภท มิใช่เป็นคำสั่งซ้ำซ้อนแต่ประการใด จำเลยมีคำสั่งที่172/2534 เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมแล้ว เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบ โดยการปลอมใบเสนอราคาขายให้เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่การงานซึ่งถูกโทษทางวินัยและดำเนินคดีอาญาในข้อหาปลอมเอกสารและถูกพักงานจนกว่าจะทราบผลคดีเมื่อปรากฏผลคดีว่าศาลอาญาพิพากษาให้โจทก์มีความผิดตามฟ้องจำคุก 4 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอการลงอาญาไว้ 2 ปีจึงถือว่าโจทก์มีความผิดตามระเบียบข้อบังคับ จำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจะจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างพักงานได้ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2522 ข้อ 46ข้อ 47 และข้ออื่น ๆ ประกอบกับโจทก์ไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา จำเลยไม่มีตำแหน่งใด ๆ ที่จะบรรลุและจ่ายเงินเดือนตามฟ้องให้แก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าที่ได้รับในขณะเลิกจ้างในอัตราเงินเดือนเดือนละ 8,200 บาท และชำระค่าจ้างหรือเงินเดือนค้างจ่ายจำนวน1,474 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาสรุปได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้กระทำความผิดในหน้าที่โดยแก้ไขเพิ่มเติมใบเสนอราคาขายอันเป็นความผิดทางวินัยฝ่าฝืนข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2522เอกสารหมาย จ.6 จำเลยจึงมีคำสั่งให้ออกโดยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่1 มีนาคม 2532 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อประธานกรรมการของจำเลย ซึ่งมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงการลงโทษจากให้ออกเป็นลงโทษลดขั้นเงินเดือน 4 ขั้น และให้กลับเข้าทำงานใหม่เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2532 ต่อมาโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสารที่สืบเนื่องมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมใบเสนอราคาขายที่เป็นมูลเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัย จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2532 หลังจากนั้นศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ 4 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีคดีถึงที่สุดโจทก์จึงขอกลับเข้าทำงาน แต่จำเลยมีคำสั่งที่ 172/2534ไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน และงดจ่ายเงินค่าจ้างระหว่างพักงานซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยนำเอามูลคดีที่จำเลยลงโทษทางวินัยซึ่งยุติไปแล้วมาลงโทษทางวินัยโจทก์ซ้ำอีก คำสั่งที่172/2534 จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลอาญาว่าได้กระทำความผิดและไม่เป็นที่ไว้วางใจของนายจ้าง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ ทั้งการออกคำสั่งของจำเลยที่ออกคำสั่งหลายครั้งเป็นการออกคำสั่งเกี่ยวกับพฤติการณ์ของโจทก์เป็นช่วง ๆ ตามระเบียบปฏิบัติและตามข้อบังคับว่าด้วยการพนักงานของจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ลูกจ้างของจำเลยอาจถูกลงโทษทางวินัยได้ตามข้อบังคับขององค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษไล่ออกปลดออก ให้ออกหรือเลิกจ้าง ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือนและภาคทัณฑ์ รวม 6 สถาน ตามข้อ 40 ของข้อบังคับว่าด้วยการพนักงานของจำเลยที่อ้างถึง การถูกลงโทษทางวินัยดังกล่าว ลูกจ้างอาจอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อผู้บังคับบัญชาของตนได้ ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 55 ของข้อบังคับได้เมื่อกล่าวโดยเฉพาะในกรณีของโจทก์จะเห็นว่า โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจากให้ออกเป็นลดขั้นเงินเดือน 4 ขั้นจึงถือได้ว่าการลงโทษทางวินัยในข้อหาที่เป็นการกระทำผิดแก้ไขเพิ่มเติมใบเสนอราคาขายเป็นที่สุดโดยโจทก์และจำเลยต่างพอใจในการลงโทษไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏต่อมาว่าจำเลยได้ร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในการกระทำครั้งเดียวกับความผิดทางวินัยเป็นมูลความผิดทางอาญาอีก และศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อหาก็ตาม ก็เป็นความรับผิดทางอาญาของโจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งแยกพิจารณาจากความผิดทางวินัยของโจทก์ได้ เมื่อผลของคดีอาญาไม่ทำให้โจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลยต่อไปจำเลยก็จะนำเอาการกระทำอันเดียวกันซึ่งโจทก์ถูกลงโทษทางวินัยไปแล้วและเป็นเหตุซ้ำซ้อนเหตุเดียวกันมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์อีกไม่ได้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีและพิพากษาให้รับโจทก์เข้าทำงานชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share