คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3179/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายเมื่อเดือนธันวาคม 2528 สั่งจ่ายเงินในวันที่ 15 มกราคม 2528 และผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คในวันที่ 4เมษายน 2528 ในวันเดียวกันเวลากลางวัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค วันที่ความผิดเกิดก็คือวันที่ 4 เมษายน 2528 ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งเป็นวันที่ย้อนหลังจากวันที่จำเลยมอบเช็คให้ผู้เสียหาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่วันที่กระทำผิดจะเกิดก่อนวันที่จำเลยมอบเช็คพิพาทให้ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นความผิด กรณีเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 จำคุก 4 เดือนคำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุก 2 เดือน20 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการที่ศาลจะพิพากษาคดีนั้นจะต้องตรวจคำฟ้องของโจทก์เสียก่อนว่า เป็นฟ้องที่บรรยายให้เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 หรือไม่ เมื่อฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายเมื่อเดือนธันวาคม2528 สั่งจ่ายเงินในวันที่ 15 มกราคม 2528 และผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คในวันที่ 4 เมษายน 2528 ในวันเดียวกัน เวลากลางวัน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ควันที่ความผิดเกิดก็คือวันที่ 4 เมษายน 2528 ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งเป็นวันที่ย้อนหลังจากวันที่จำเลยมอบเช็คให้ผู้เสียหาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่วันที่กระทำผิดจะเกิดก่อนวันที่จำเลยมอบเช็คพิพาทให้ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 75/2503ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายอำพันธ์ แมนผดุง จำเลยฟ้องที่ไม่เป็นความผิดเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน และไม่ใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับเวลากระทำความผิดที่กล่าวในฟ้อง ซึ่งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ที่จะถือว่ามิใช่ข้อสาระสำคัญและสามารถลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ดังโจทก์ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.

Share