คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ 1 มิใช่สามีของนาง จ. เจ้ามรดก ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่านาง จ. และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานของนาง จ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนาง จ. แต่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนาง จ. เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปิดบังซ่อนเร้นเพื่อมิให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับมรดกของนาง จ. เหตุที่ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจึงเป็นคนละเหตุกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นทายาทของนางเจริญเจ้ามรดก มีสิทธิรับมรดกของนางเจริญ โจทก์ที่ ๕ ได้รับที่ดินมรดกในทางศาสนาเนื้อที่ ๑ ไร่ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำโดยไม่สุจริต โดยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่านางเจริญไม่มีทายาทจะรับมรดกนอกจากตน เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นมรดกของนางเจริญให้จำเลยที่ ๑ และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนยกให้โดยเสน่หาซึ่งที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วต่อมามีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินออกเป็น ๓ แปลงและจำเลยที่ ๒ สมคบกับจำเลยที่ ๔ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕ ให้แก่จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรายนี้ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถูกกำจัดมิให้รับมรดกที่ดินทั้งหมด ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จำนวนเนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา ให้จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๕ จำนวนเนื้อที่ ๑ ไร่ ในฐานะโจทก์ที่ ๕ ครอบครองปรปักษ์ หากจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่านางปุ้ยได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕ ให้นางเจริญและโจทก์ที่ ๓ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมส่วนบุตรคนอื่นได้รับเงินจากนางเจริญและโจทก์ที่ ๓ เป็นที่พอใจจึงไม่มีชื่อร่วมอยู่ในโฉนด นางเจริญและโจทก์ที่ ๓ ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ร่วมกัน นางเจริญได้ที่ดินโฉนดเดิมเนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา นางปุ้ยมิได้ยกที่ดินให้นางเจริญโดยเสน่หา เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๑๔ตารางวา และมิได้ยกที่ดินให้โจทก์ที่ ๕ เพื่อเป็นสุสานฝังศพ จำนวนเนื้อที่ ๑ ไร่ จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ได้สมคบกระทำการไม่สุจริต จำเลยที่ ๔ รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงินประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ได้แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๘๔/๒๕๒๑ ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปี ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ ๒ ถึงแก่ความตายโจทก์ที่ ๓ ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ ๒ ผู้มรณะ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๘๔/๒๕๒๑ ของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ หรือไม่นั้น เห็นว่า ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๑๒๖๘๔/๒๕๒๑ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่โดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ ๑ ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากับนางเจริญเจ้ามรดกก่อนที่นางเจริญจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่ทายาทของนางเจริญและจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๔ ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่านางเจริญและจำเลยที่ ๑ ยังเป็นสามีภรรยากันจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานของนางเจริญ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนางเจริญ แต่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนำคดีมาฟ้องพ้นกำหนด ๑ ปีนับแต่นางเจริญถึงแก่ความตาย แต่คดีนี้โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๔ ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่โดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ ๑ ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางเจริญเนื่องจากจำเลยที่ ๑ แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่านางเจริญไม่มีทายาทอื่น การกระทำของจำเลยที่ ๑ มุ่งประสงค์โดยตรงจะปิดบังซ่อนเร้นเพื่อมิให้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้รับมรดกของนางเจริญอันเป็นการปิดบังมรดกเกินกว่าส่วนของจำเลยที่ ๑ จะได้รับจำเลยที่ ๑จึงไม่มีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๔ รู้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคดีโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ ๑ ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกของนางเจริญจึงไม่ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๖๘๔/๒๕๒๑ ที่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ ๑ มิใช่สามีของนางเจริญเจ้ามรดก โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฟ้องคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
ส่วนปัญหาฟ้องของโจทก์ที่ ๕ ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าหากคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถูกกำจัดมิให้รับมรดกแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางเจริญและไม่อาจที่จะถือประโยชน์ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ มายันโจทก์ที่ ๕ ได้ไม่ควรด่วนวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ที่ ๕ ขาดอายุความแล้ว สมควรที่จะฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความก่อนจึงจะวินิจฉัย
แต่โดยเหตุที่ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีกหลายข้อ จึงเห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ.

Share