คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายบอกขายบ้านพิพาท จำเลยรับซื้อไว้และได้ชำระราคาบ้านบางส่วนให้ผู้ตาย ผู้ตายได้ส่งมอบบ้านพิพาทให้จำเลยเข้าอยู่อาศัย โดยไม่ได้ความว่าขณะตกลงซื้อขายกันได้มีการพูดจากันถึงเรื่องการไปจดทะเบียนโอนกันในภายหลัง แสดงว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายบ้านพิพาทจึงถือว่าเป็นการซื้อขายกันโดยเด็ดขาด เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นโมฆะ แม้จะได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว ก็จะถือว่าสมบูรณ์ในฐานะเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ได้ จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับเงินราคาบ้านส่วนที่เหลือแล้วโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทให้แก่จำเลยมิได้
การซื้อขายจะบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ได้หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนายประเสริฐซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมแต่ผู้เดียวเพราะนายประเสริฐไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานบ้านเลขที่ ๕๙/๒๗ ปลูกอยู่ในที่ดินเช่าจากวัดภคินีนารถ เป็นมรดกของนายประเสริฐตกทอดแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองและบริวารเป็นผู้อยู่ในบ้านหลังดังกล่าว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้ซื้อบ้านเลขที่ ๕๙/๒๗จากนายประเสริฐในราคา ๕๓,๘๐๐ บาท แต่ไม่ได้ทำหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินให้นายประเสริฐไปแล้ว ๔๖,๒๕๐ บาท กับได้ตกแต่งซ่อมแซมเป็นเงินอีก ๕๓,๘๐๗ บาท ๕๐ สตางค์ จำเลยทั้งสองขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทให้และรับเงินค่าบ้าน ๗,๕๕๐ บาทที่เหลือ แต่โจทก์ปฏิเสธ ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากบ้านพิพาทและยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างนายประเสริฐผู้ตายกับจำเลยทั้งสอง คู่กรณีไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือกันไว้ ตามข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองได้ความแต่เพียงว่าผู้ตายบอกขายบ้านพิพาทก่อน แล้วต่อมาจำเลยทั้งสองจึงตกลงรับซื้อไว้ จำเลยทั้งสองได้ชำระราคาบ้านบางส่วนให้ผู้ตาย และผู้ตายก็ได้ส่งมอบบ้านพิพาทให้จำเลยทั้งสองเข้าอยู่อาศัยแล้ว เท่านั้น ไม่ได้ความว่าขณะตกลงซื้อขายกันได้มีการพูดจากันถึงเรื่องการจะไปจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทกันในภายหลัง แสดงว่าคู่กรณีมิได้มีเจตนาจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่แรก คือไม่ประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายบ้านพิพาทจึงถือว่าเป็นการซื้อขายกันโดยเด็ดขาด ไม่ใช่เพียงจะซื้อจะขาย เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ แม้จะได้มีกาชำระหนี้บางส่วนแล้วก็จะถือว่าสมบูรณ์ในฐานะเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์รับเงินราคาบ้านส่วนที่เหลือ แล้วโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองหาได้ไม่ ปัญหาเรื่องการซื้อขายจะบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ ได้หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕)
พิพากษายืน

Share