คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3111/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยมีโจทก์เป็นลูกจ้างเพียงคนเดียว มีโครงการสวนพฤกษชาติแต่ต้องระงับโครงการ จึงเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินจ่าย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควรจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป อัตราเงินเดือน 60,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า บริษัทได้ระงับโครงการไว้เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 120,000 บาทค่าชดเชยจำนวน 180,000 บาท ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 12 วัน ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิเป็นเงิน 24,000 บาท กับจำเลยยังค้างค่าจ้างโจทก์สำหรับเดือนธันวาคม 2542 จำนวน 60,000 บาทจำเลยต้องชำระเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2543เป็นต้นไป นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหกสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 121 เป็นเงินจำนวน 120,000 บาท และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอคิดค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้าง 36 เดือน เป็นเงิน 2,160,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่ายตามจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องและเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย ชำระค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 2,160,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานและหนังสือสำคัญการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เนื่องจากจำเลยไม่มีรายได้ และโจทก์เรียกร้องมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงตกลงกันไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มทุกระยะเวลาเจ็ดวันตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2541 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปโครงการสวนพฤกษชาติซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท จำเลยมีโจทก์เป็นลูกจ้างคนเดียว จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เดือนธันวาคม 2542 จำนวน 60,000 บาทเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากบริษัทจำเลยได้ระงับโครงการไว้เป็นการชั่วคราวและยังไม่มีกำหนดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้อีกเมื่อใดแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงินจำนวน 180,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นเงินจำนวน 60,000 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6 วัน เป็นเงินจำนวน 12,000 บาทสำหรับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยต้องชำระให้โจทก์ เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยได้ดำเนินการชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยมีเหตุขัดข้องอันสมควรอย่างใด จึงถือว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินดังกล่าวทุกระยะเวลาเจ็ดวันตามกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายเดือนธันวาคม2542 จำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 12,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันที่ 8 มกราคม 2543 ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน จ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ทั้งนี้จนกว่าจำเลยจะชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยเสร็จ กับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ในค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัทจำเลยมีโจทก์เป็นลูกจ้างเพียงคนเดียว มีโครงการสวนพฤกษชาติที่จังหวัดภูเก็ตแต่ต้องระงับโครงการ จึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ผลประโยชน์จากการเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าทนายความตามหนังสือเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายและผลประโยชน์จากการเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 และรายการเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้จำเลยจึงไม่จ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง เห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์เองว่า รายได้ของบริษัทจำเลยเท่ากับศูนย์ซึ่งหมายความว่า บริษัทจำเลยไม่มีรายได้จึงมิได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ตามเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ได้รับเงินเดือนเป็นเช็คจากบริษัทมิวเร็กซ์ จำกัด เพราะบริษัทจำเลยไม่มีเงินจ่ายให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่บริษัทจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้แก่โจทก์เนื่องจากบริษัทจำเลยไม่มีเงินจ่ายนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share