คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4222/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าร้านค้า โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการอยู่ในร้านค้านั้น ต่อมาจำเลยที่ 3 เป็นผู้นำใบบันทึกการขายปลอมรวม 4 ฉบับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใบบันทึกการขายปลอมจำนวน 25 ฉบับ ไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมได้โอนเงินให้แล้ว ส่อแสดงให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องกันในกิจการร้านค้าที่จำเลยที่ 1 ทำการค้าขายอยู่นั้นด้วย ในการนำใบบันทึกการขายและใบสรุปยอดการขายบัตรเครดิตไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 คงมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หมุนเวียนกันไปโดยไม่มีบุคคลอื่น นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปลอมและใช้บัตรเครดิตและใบบันทึกการขายอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกง โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ต้องหาดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการปลอมและใช้บันทึกการขายปลอม และมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมใบบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ ของผู้ถือบัตรเครดิตซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมต่างรายกัน โดยสภาพของการกระทำจำเลยทั้งสามต้องทำใบบันทึกการขายดังกล่าวทีละฉบับ ในทันทีที่จำเลยทั้งสามปลอมใบบันทึกการขายฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิแล้วกระทงหนึ่ง การปลอมใบบันทึกการขายของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหลายกรรมเป็น 25 กระทง
ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเอกสารสิทธิปลอมไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามเนื้อความของเอกสารสิทธิปลอมแต่ละฉบับนั้น การนำเอกสารสิทธิหลายฉบับไปใช้ก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนเอกสารสิทธิที่นำไปใช้ได้ แม้จะนำเอกสารสิทธิปลอมหลายฉบับนั้นไปใช้ในคราวเดียวกันก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำในใบบันทึกการขายปลอมรวม 25 ฉบับ ไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 เมษายน 2537 และระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2537 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนานำใบบันทึกการขายปลอมรวม 25 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ร่วม ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมตามเนื้อความของใบบันทึกการขายปลอมแต่ละฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมหลายกรรมรวม 25 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามกับนางสาวนริสราหรืออาริตา กิจขยัน ซึ่งยังหลบหนีได้ร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 265, 268, 341 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 240,340 บาท (ที่ถูกเป็น 290,340 บาท) ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อโกงไปแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 268, 341 ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดรวม 25 กระทง จึงให้เรียงกระทงลงโทษเป็นรายกระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยคนละ 12 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 83,200 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265, 341, 341 ประกอบด้วยมาตรา 80 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง โดยฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมกับฐานร่วมกันฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมกับฐานร่วมกันพยายามฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 83,200 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าอยู่ที่แผงบี-5,6 จำเลยที่ 2 จำหน่ายสินค้าอยู่ที่แผงบี-7,8 ในย่านการค้าดาวน์ทาวน์ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิกของธนาคารโจทก์ร่วมที่จะรับชำระราคาสินค้าด้วยบัตรเครดิตของโจทก์ร่วมที่ออกให้แก่ผู้ถือบัตรซึ่งมาซื้อสินค้าของจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์ร่วมได้มอบเครื่องรูดบัตรเครดิตให้แก่จำเลยทั้งสองไว้ประจำแผงร้านค้าดังกล่าวแผงละ 1 เครื่อง และมอบแบบพิมพ์ใบบันทึกการขาย (แผ่นเซลสลิป) ให้ด้วย ทั้งนี้มีข้อตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะรับบัตรเครดิตชำระราคาสินค้าได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท หากเกินวงเงินดังกล่าวจำเลยทั้งสองจะโทรศัพท์ขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของโจทก์ร่วมที่กรุงเทพมหานครเสียก่อน สำหรับใบบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ เป็นบันทึกการขายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมรูดจากเครื่องรูดบัตรเครดิตที่โจทก์ร่วมมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ประจำร้านค้าของจำเลยที่ 1 หรือแผงบี-5,6 และมีการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงลงในช่องลายมือชื่อผู้ถือบัตรในแบบพิมพ์ใบบันทึกการขายที่โจทก์ร่วมมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ประจำร้านค้าของจำเลยที่ 1 หรือแผงบี-5,6 และมีการใช้ใบบันทึกการขายปลอมทั้ง 25 ฉบับ ดังกล่าวโดยมีผู้นำมายื่นแก่โจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 สำหรับใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.9 รวม 4 ฉบับ จำเลยที่ 3 เป็นผู้นำมายื่นและโจทก์ร่วมได้โอนเงินตามใบบันทึกการขายดังกล่าว รวมเป็นเงิน 83,200 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.10 รวม 4 ฉบับ จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำมายื่นแต่พนักงานของโจทก์ร่วมตรวจพบว่าเป็นใบบันทึกการขายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมจึงไม่โอนเงินตามใบบันทึกการขายดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าร้านค้าหรือแผงบี-5,6 จากนายสมศักดิ์ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 โดยตอนทำสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 มากับจำเลยที่ 3 และปรากฏว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ประกอบกิจการค้าอยู่ที่ร้านค้าหรือแผงบี-5,6 ซึ่งเป็นร้านค้าหรือแผงที่จำเลยที่ 3 เช่าจากนายสมศักดิ์ดังกล่าว ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 3 และที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่า ในวันที่ 4 เมษายน 2537 จำเลยที่ 3 ได้นำใบบันทึกการขายปลอมตามเอกสารหมาย จ.9 รวม 4 ฉบับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใบบันทึกการขายปลอมในจำนวน 25 ฉบับ ไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้ว และโจทก์ร่วมได้โอนเงินตามใบบันทึกการขายปลอมดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้ว ส่อแสดงให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ย่อมต้องมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในกิจการร้านค้าที่จำเลยที่ 1 ทำการค้าขายอยู่นั้นด้วย เพราะมิฉะนั้นคงไม่มีเหตุผลใดที่อยู่ ๆ จำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 3 นำใบบันทึกการขายปลอมตามที่กล่าวมาไปดำเนินการดังกล่าว สำหรับเหตุการณ์เกี่ยวกับการปลอมบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานรู้เห็น แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ในการนำใบบันทึกการขาย ใบสรุปยอดการขายบัตรเครดิตไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 คงมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หมุนเวียนกันไปโดยไม่มีบุคคลอื่น นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับนางสาวอาริตาหรือนริสรา กิจขยัน ผู้ต้องหาที่ถูกร้อยตำรวจเอกคำรณ เจริญใจ เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจจับกุมในข้อหาร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิตและใบบันทึกการขาย) ฉ้อโกง ตามสำเนารายงานการสอบสวนเอกสารหมาย ป.จ.6 ด้วย กล่าวคือมีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวอาริตาหรือนริสรา ทั้งในเรื่องนี้จำเลยที่ 3 ก็มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อนำพฤติการณ์ตามที่ได้ความดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่าใบบันทึกการขายปลอมรวม 25 ฉบับ เป็นเอกสารส่วนหนึ่งของแบบพิมพ์ในบันทึกการขายที่โจทก์ร่วมได้มอบไว้ประจำร้านค้าที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าโดยจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ดังวินิจฉัยข้างต้น รูปคดีมีเหตุผลทำให้น่าเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 ย่อมต้องมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการปลอมใบบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ และการใช้ใบบันทึกการขายปลอมดังกล่าวยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ด้วย และมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ (ใบบันทึกการขาย) ใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมใบบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้การกระทำในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมใบบันทึกการขายรวม 25 ฉบับ ของผู้ถือบัตรเครดิตซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมต่างรายกัน ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 และ จ.66 ถึง จ.68 โดยสภาพของการกระทำ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องทำใบบันทึกการขายดังกล่าวทีละฉบับ ในทันทีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลอมใบบันทึกการขายฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิสำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง การปลอมใบบันทึกการขายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหลายกรรมรวม 25 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิเพียง 3 กระทง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปลอมใบบันทึกการขาย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานปลอมใบบันทึกการขายซึ่งเป็นเอกสารสิทธิรวม 25 กระทงเดียวเช่นเดียวกัน
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ความผิดฐานใช้ใบบันทึกการขายปลอมซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำปลอมขึ้นเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ซึ่งจะได้วินิจฉัยปัญหานี้กับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 นำใบบันทึกการขายไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ร่วม ซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวหรือกระทงเดียวหรือไม่ ไปในคราวเดียวกัน เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ เห็นว่า ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเอกสารสิทธิปลอมไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามเนื้อความของเอกสารสิทธิปลอมแต่ละฉบับนั้น การนำเอกสารสิทธิหลายฉบับไปใช้ก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนเอกสารสิทธิที่นำไปใช้ได้ แม้จะนำเอกสารสิทธิปลอมหลายฉบับนั้นไปใช้ในคราวเดียวกันก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันให้จำเลยที่ 3 นำใบบันทึกการขายปลอมตามเอกสารหมาย จ.9 รวม 4 ฉบับ ไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 เมษายน 2537 เวลา 9.30 นาฬิกา ส่วนในบันทึกการขายปลอมตามเอกสารหมาย จ.10 รวม 4 ฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันให้จำเลยที่ 1 นำไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันดังกล่าวเวลา 11 นาฬิกาเศษ สำหรับใบบันทึกการขายปลอมอีก 17 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.66 ถึง จ.68 นั้น ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำไปยื่นต่อโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2537 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนานำใบบันทึกการขายปลอมรวม 25 ฉบับ ไปใช้เรียกเก็บเงินจากโจทก์ร่วม ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมตามเนื้อความของใบบันทึกการขายปลอมแต่ละฉบับดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบบันทึกการขายปลอมไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมหลายกรรมรวม 25 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียง 3 กระทง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) การกระทำของจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นความผิดฐานใช้ใบบันทึกการขายซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 25 กระทง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265, 341 และมาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 80 จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั่นเอง จึงให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมกับฐานร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 25 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 150 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 83,200 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9.

Share