แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ และ ป.วิ.พ. มาตรา 144 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงนำเรื่องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับในการดำเนินคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้โดยอนุโลม
โจทก์ร่วมเคยฟ้องจำเลยเรื่องบุกรุกที่เกิดเหตุสถานที่เดียวกันกับคดีนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทาน หากคดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า มีพยานหลักฐานใหม่มาพิสูจน์ได้ว่าที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน ศาลก็ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานหรือไม่ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานโดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 579/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ร้อยโทอภินันท์ ผู้จัดการมรดกของพระยารัตนเศรษฐีหรือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 362 จำคุก 1 ปี นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 579/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินตำบลเขาระฆังทอง อำเภอบางนอน แขวงเมืองระนอง วัดกว้างยาวตามที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ยาวทิศเหนือ 18 เส้น ทิศใต้ 20 เส้น กว้างทิศตะวันออก 20 เส้น 15 วา ทิศตะวันตก 15 เส้น เป็นที่ลดเลี้ยวไม่เสมอกัน ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกมีลำคลองเป็นเขต ด้านเหนือมีหลักซึ่งกรมการปักไว้เป็นเขตและด้านใต้มีตลิ่งลงที่เลนเป็นเขตให้แก่พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ) ผู้ว่าราชการเมืองระนองสำหรับทำเป็นสุสานของบุคคลในตระกูล ณ ระนอง ต่อมาพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) ทำหนังสือพินัยกรรมแสดงความประสงค์ให้คงที่ดินพระราชทานไว้เป็นที่กลางสำหรับตระกูลให้อยู่เป็นปกติถาวรสืบไปในภายหน้า โดยระบุในพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพระราชทานว่า ที่ดินทางด้านทิศเหนือยาว 18 เส้น จดควนเขาและป่า ทิศใต้ยาว 20 เส้น จดที่ป่า ทิศตะวันออกกว้าง 20 เส้น 15 วา จดที่นายหนูและป่า และทิศตะวันตกกว้าง 15 เส้น จดที่ป่าและนำหนังสือพินัยกรรมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้พินัยกรรมมีผลบังคับต่อไปและทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หนังสือพินัยกรรมเป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ที่ดินที่กล่าวอ้างว่าจำเลยบุกรุกปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและแผนที่พิพาทในสำนวนตามสารบัญลำดับที่ 29/8 และลำดับที่ 29/10 เป็นบริเวณเดียวกันกับที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วม ส่วนคดีแพ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ นอกจากนี้อาณาเขตที่ดินพระราชทานด้านทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก คู่ความรับว่าสอดคล้องตรงกันกับที่ระบุไว้ มีปัญหาเฉพาะอาณาเขตด้านทิศเหนือเท่านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพระราชทานโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ชอบหรือไม่ เห็นว่า วิธีพิจารณาความอาญาเรื่องใดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ กล่าวคือ การนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดต่อหลักในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงสามารถนำเรื่องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 มาใช้บังคับในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้โดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเคยฟ้องจำเลย เรื่องบุกรุกที่เกิดเหตุสถานที่เดียวกันกับคดีนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทาน ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่า ที่เกิดเหตุคดีนี้กับที่เกิดเหตุในคดีก่อนเป็นสถานที่เดียวกัน แต่จำเลยต่อสู้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่มาพิสูจน์ได้ว่า ที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน ปัญหาดังกล่าวหากศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยก็ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า ที่เกิดเหตุที่จำเลยบุกรุกอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานหรือไม่ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เพราะที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่ในเขตที่ดินพระราชทานตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นกฎหมายและยังมีผลบังคับอยู่โดยเฉพาะที่ดินพระราชทานอาณาเขตด้านทิศเหนือมีระบุในพินัยกรรมว่า ยาว 18 เส้น จดควนเขาและป่า อันเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แน่นอน ทั้งเป็นการแสดงได้ในตัวว่าอาณาเขตที่ติดภูเขาและป่าไม่มีที่เหลือให้จำเลยครอบครองได้อีก ประกอบกับจำเลยก็รับว่าบริเวณที่จำเลยบุกรุกเป็นที่ตั้งสุสานขนาดใหญ่ของตระกูล ณ ระนอง มีลักษณะกระจัดกระจายหลายสุสาน ซึ่งสร้างมากว่า 100 ปี และจำเลยจงใจบุกรุกที่เกิดเหตุมาหลายครั้งแล้วย่อมทราบดีว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพระราชทาน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพระราชทานโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมปัญหานี้ฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพระราชทาน ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำในข้อเท็จจริงดังกล่าวตามฎีกาของโจทก์ร่วมอีกปัญหาหนึ่งต่อไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยนำไม้มาตีเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและปักเสาคอนกรีต เพื่อปลูกสร้างบ้าน อันมีลักษณะเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของตระกูล ณ ระนอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น