แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้ให้การถึงการทำงานของโจทก์ในเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหลังจากครบกำหนดการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วโจทก์กระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง
ค่าชดเชยที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (2) เป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายและไม่เกินสามแสนบาท จึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 216 (พ.ศ.2509), ฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 72,500 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 16,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 72,500 บาท ค่าชดเชย 217,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 880,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยยอมให้โจทก์ทำงานต่อไปหลังวันที่ 30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการต่อสัญญาจ้างแรงงานออกไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนตุลาคม 2548 โจทก์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน จำเลยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 90 วันเป็นเงิน 195,000 บาท จำเลยจ่ายแล้ว 175,500 บาท ยังขาดอยู่ 19,500 บาท จำเลยเจตนาไม่ต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ตั้งแต่ก่อนครบกำหนดสัญญา แต่ด้วยความบกพร่องของจำเลยเองทำให้การแจ้งไม่ต่อสัญญาหรือบอกเลิกสัญญาล่าช้า ไปเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 65,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 13,000 บาท ค่าชดเชยส่วนที่ขาด 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยให้นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 โดยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนด 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 เดิมนางนงลักษณ์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ต่อมานางสาวธัญธรซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มฝ่ายทรัพยากรบุคคลและการจัดการได้เข้าทำงานกับจำเลยแทนนางนงลักษณ์ก่อนมีการเลิกจ้างโจทก์ไม่นาน หลังจากครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน แล้วในวันที่ 12 และวันที่ 18 ตุลาคม 2548 โจทก์ได้ทำงานในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลย ต่อมาจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์และโจทก์ได้รับไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 175,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยมิได้มีเจตนาให้โจทก์ไปทำงานในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยหลังจากที่ครบกำหนดการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การที่โจทก์ไปทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างขึ้นใหม่หลังจากครบกำหนดการจ้างเดิมแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในเดือนตุลาคม 2548 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์ทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เป็นการทำงานเกินหนึ่งปีแล้วจำเลยเลิกจ้างโดยมิชอบ จึงขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนตุลาคม 2548 ค่าชดเชยจากการทำงานครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้คำฟ้องโจทก์ส่วนนี้เพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยและเป็นการครบกำหนดตามสัญญาจ้างที่ตกลงกำหนดระยะเวลากันไว้แน่นอนแล้ว โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงการทำงานของโจทก์ในเดือนตุลาคม 2548 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด คำให้การจำเลยจึงไม่มีประเด็นว่าการที่โจทก์ทำงานให้จำเลยในเดือนตุลาคม 2548 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันแล้ว แต่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 19,500 บาท แล้วจ่ายส่วนที่เหลือ 175,000 บาท แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เพิ่มอีก 19,500 บาท จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร หมวด 3 ภาษีเงินได้ ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา มาตรา 42 (17) บัญญัติให้เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (51) ระบุให้ “ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท” เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อเลิกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (2) ซึ่งเป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายและไม่เกินสามแสนบาทจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรและกฎกระทรวงข้างต้น และไม่ถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ซึ่งจำเลยเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจะต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบมาตรา 3 จตุทศ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้โจทก์ เมื่อจำเลยหักค่าชดเชยที่ต้องจ่ายแก่โจทก์จึงเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไป 19,500 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาด 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.