แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
อ. ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายล้มลง พอ อ. ถอยออกมา จำเลยเข้าไปล้วงกระเป๋าผู้เสียหายเอาซองเงินเดือนผู้เสียหายวิ่งหลบหนีไปทันที เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายและพวกจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยฉกฉวยเอาเงินของผู้เสียหายหนีไปซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยได้ในฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 8,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 295 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานวิ่งราวทรัพย์จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 8,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง, 295 ประกอบมาตรา 83 ฐานลักทรัพย์ลงโทษจำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับน้องชายคือนายอรรถพร ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2691/2542 ของศาลชั้นต้นได้พบนายชาญชัยผู้เสียหาย นายสุภชัยและนายประพันธ์ที่บริเวณปากซอยทานตะวัน นายอรรถพรได้เข้าไปชก เตะผู้เสียหายและเอาศรีษะผู้เสียหายโขกกับสังกะสีข้างถนนจนล้มลงมีบาดแผลที่หน้าผาก คิ้วขวา ริมฝีปากบน แขนขวาท่อนล่างส่วนบน และข้อศอกซ้ายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ทั้งผู้เสียหายและนายสุภชัยประจักษ์พยานต่างเบิกความว่าอาวุธปืนที่จำเลยถือจะเป็นอาวุธปืนที่แท้จริงหรือไม่ ไม่ทราบจึงทำให้เป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าอาวุธปืนที่ประจักษ์พยานอ้างว่าจำเลยถือขู่อยู่นั้นจะเป็นอาวุธปืนที่แท้จริงหรือไม่ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความอีกว่า เคยเห็นอาวุธปืนของเทียมที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดซึ่งเหมือนของจริง ดังนั้น อาวุธปืนที่พยานทั้งสองปากเห็นอาจไม่ใช่อาวุธปืนแท้จริงก็เป็นไปได้ และที่โจทก์อ้างว่าในชั้นสอบสวนตัวนายอรรถพรจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2691/2542 ให้การรับว่าอาวุธปืนเป็นของนายอรรถพรเอง แต่นายอรรถพรกลับเบิกความในคดีดังกล่าวว่า นายอรรถพรถูกทำร้ายร่างกายจนทนไม่ได้ จึงได้ลงลายมือชื่อในคำให้การไป โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟังก่อนเป็นการอ้างว่าคำให้การดังกล่าวได้มาโดยไม่ชอบ ทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของนายอรรถพรมีน้ำหนักน้อย ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่สามารถยึดมาเป็นของกลางได้ พยานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า สิ่งของที่ประจักษ์พยานโจทก์อ้างนั้นเป็นอาวุธปืนที่แท้จริงตามฟ้องโจทก์หรืออาจไม่ใช่อาวุธปืนก็ได้ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยว่าสิ่งที่จำเลยถือขู่นายสุภชัยและนายประพันธ์อาจไม่ใช่อาวุธปืนก็เป็นได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปที่ว่าจะลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ได้หรือไม่ และจำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ สมควรวินิจฉัยรวมกันโดยต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์เงินในกระเป๋าของผู้เสียหายไปจำนวน 8,000 บาท จริงหรือไม่ ได้ความจากผู้เสียหายและนายสุภชัยพยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่า หลังจากผู้เสียหายถูกนายอรรถพรทำร้ายร่างกาย นายอรรถพรถอยออกมาจากผู้เสียหาย จำเลยเข้าไปล้วงกระเป๋ากางเกงผู้เสียหายเอาซองเงินเดือนของผู้เสียหายมีเงินจำนวน 8,000 บาท วิ่งหลบหนีไป ซึ่งเงินจำนวน 8,000 บาท เป็นเงินเดือนของผู้เสียหาย 6,000 บาทเศษ และเป็นเงินที่นายแผนเพื่อนร่วมงานนำเงินที่ยืมผู้เสียหายไปมาคืนผู้เสียหายรวมกับเงินเดือนแล้วเป็นเงิน 8,000 บาท ความข้อนี้นายสุภชัยก็เบิกความยืนยันว่าเห็นผู้เสียหายนำซองเงินเดือนออกมานับเงินได้ 8,000 บาท ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่าไม่ได้เอาเงินผู้เสียหายไป ถ้าจำเลยจะเอาก็น่าจะใช้อาวุธปืนขู่เอาเงินจากนายสุภชัยกับนายประพันธ์ด้วยก็ดี และไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะมีเงินถึง 8,000 บาท เพราะไม่ได้นำนายจ้างผู้จ่ายเงินเดือนกับนายแผนคนใช้หนี้เงินยืมผู้เสียหายเบิกความยืนยันก็ดี ทำให้พยานโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย แต่จำเลยก็ไม่ได้มีพยานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยลักเงินจำนวน 8,000 บาท ของผู้เสียหายไปจริงฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่าจะลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ได้หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายอรรถพรทำร้ายร่างกายผู้เสียหายล้มลง พอนายอรรถพรถอยออกมา จำเลยเข้าไปล้วงกระเป๋าผู้เสียหายเอาซองเงินเดือนผู้เสียหายวิ่งหลบหนีไปทันที เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายและพวกจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยฉกฉวยเอาเงินของผู้เสียหายหนีไปซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยได้ในฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายเท่านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าดังโจทก์ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกับนายอรรถพรทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ขณะนายอรรถพรเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจำเลยจะไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้เสียหายโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ใช้วัตถุที่อาจไม่ใช่อาวุธปืนที่นายสุภชัยและนายประพันธ์เชื่อว่าเป็นอาวุธปืนที่แท้จริง จี้ขู่ไม่ให้นายสุภชัยและนายประพันธ์เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมกับนายอรรถพรจะทำร้ายผู้เสียหายมาก่อนหน้าแล้ว โดยแบ่งหน้าที่กันทำ นายอรรถพรเข้าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจำเลยถือวัตถุคล้ายอาวุธปืนออกมาขู่ไม่ให้นายสุภชัยกับนายประพันธ์เข้าช่วยเหลือผู้เสียหายไม่ใช่เป็นเรื่องเกิดขึ้นเฉพาะหน้าระหว่างนายอรรถพรกับผู้เสียหายและจำเลยก็ไม่จำต้องเข้าไปช่วยรุมทำร้ายผู้เสียหายด้วยดังจำเลยอ้าง ทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุจำเลยกับนายอรรถพรก็มาด้วยกันและหลบหนีไปพร้อมกัน พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยร่วมกับนายอรรถพรทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน