คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12578/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นผู้รับจ้างขนส่งกระเบื้องจากบริษัท ค. ผู้ว่าจ้างไปส่งให้แก่ร้านค้าจึงเป็นผู้ครอบครองดูแลและจะต้องรับผิดชำระค่ากระเบื้องที่สูญหายไปในระหว่างขนส่งให้แก่ผู้ว่าจ้าง โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในการที่กระเบื้องดังกล่าวสูญหายไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 164,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางอารีย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคากระเบื้องที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 164,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมรับจ้างขนส่งกระเบื้องจากบริษัทคัมพาน่าไปส่งให้แก่ร้านค้า มีคนร้ายลักกระเบื้องคัมพาน่าจำนวน 486 กล่อง ราคา 164,000 บาท ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้ครอบครองกระเบื้องที่คนร้ายลักไปไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าของที่แท้จริงคือบริษัทคัมพาน่า โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้รับจ้างขนส่งเป็นผู้ครอบครองดูแลและจะต้องรับผิดชำระค่ากระเบื้องที่สูญหายไปในระหว่างขนส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในการที่กระเบื้องดังกล่าวสูญหายไปฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนายพยอมสามีโจทก์ร่วมเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อทราบว่ากระเบื้องที่โจทก์ร่วมรับจ้างขนส่งสูญหายได้ออกติดตามไปจนพบนายยงยุทธ นายยงยุทธรับว่าได้ลักกระเบื้องดังกล่าวไปเก็บไว้ที่บริเวณบ้านของนายบุญมีและต่อมานายยงยุทธได้ว่าจ้างนายทองขับรถยนต์บรรทุกนำกระเบื้องดังกล่าวไปขายให้จำเลย จึงพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านจำเลย แต่ไม่พบกระเบื้องดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยติดต่อมาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 85,000 บาท เพื่อไม่ให้เอาเรื่องจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีนายสุรพลเบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายยงยุทธมาว่าจ้างพยานขับรถยนต์บรรทุกกระเบื้องประมาณ 500 กล่อง เมื่อมาถึงสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งนายยงยุทธลงจากรถไปประมาณ 10 นาที แล้วกลับมาบอกให้พยานขับรถไปที่ใหม่พยานสงสัยได้ซักถามจนนายยงยุทธรับว่าจะนำกระเบื้องไปขาย พยานได้บอกให้นายยงยุทธรีบนำกระเบื้องลงจากรถของพยาน เมื่อมาถึงถนนสายบางพูน – ปากเกร็ดนายยงยุทธบอกให้พยานขับรถไปที่ร้านรับซื้อของเก่าแล้วลงไปติดต่อ หลังจากนั้นกลับมาบอกให้พยานขับรถเข้าไปภายในบ้านซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้า โดยจำเลยเข้ามาบอกให้พยานนำกระเบื้องไปลงในลังไม้ เมื่อเสร็จแล้วนายยงยุทธให้เงินค้าจ้างพยาน 2,000 บาท เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ได้เบิกความไปในเรื่องของการติดตามทรัพย์ที่ถูกลักไปสอดคล้องต้องกันอย่างมีเหตุมีผล ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำให้จำเลยต้องรับโทษ ประกอบกับนายสุรพลไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีมูลเหตุอันใดที่จะกลั่นแกล้งปรักปรำใส่ร้ายจำเลย นายสุรพลมีโอกาสเห็นจำเลยขณะขนกระเบื้องลงจากรถอยู่นาน ย่อมจะจดจำจำเลยได้ไม่ผิดตัวและโจทก์มีร้อยตำรวจเอกเกรียงไกรพนักงานสอบสวนเบิกความว่าชั้นสอบสวนนายยงยุทธให้การรับสารภาพว่าได้ลักทรัพย์กระเบื้องดังกล่าวแล้วนำไปขายให้จำเลยในราคากล่องละ 100 บาท เป็นเงิน 48,000 บาท ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายยงยุทธดังกล่าวมีรายละเอียดและขั้นตอนของการกระทำความผิดสอดคล้องกับคำเบิกความของนายสุรพลที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้นำตัวนายยงยุทธมาเบิกความทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสได้ซักค้านคำพยานของนายยงยุทธนั้น ก็ไม่ถึงกับทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของนายยงยุทธเอกสารหมาย จ.5 รับฟังไม่ได้ ศาลคงรับฟังคำให้การของนายยงยุทธประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ส่วนคำเบิกความพยานโจทก์ปากนายสุรพลซึ่งได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเกรียงไกรและคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญมีแล้วน่าเชื่อว่าเป็นคนเดียวกับนายทองก็ได้เบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับคำให้การของร้อยตำรวจเอกเกรียงไกรพนักงานสอบสวน และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายยงยุทธเอกสารหมาย จ.5 ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะให้การปรักปรำจำเลยดังที่จำเลยฎีกา สำหรับพยานหลักฐานจำเลยเพียงแต่นำสืบปฏิเสธลอย ๆ อ้างว่า จำเลยไม่ได้รับซื้อกรเบื้องจากนายยงยุทธไว้ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ข้อเท็จจริงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยและพิพากษาลงโทษมา
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษให้โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยอายุมากแล้วถึง 62 ปีเศษ มีโรคประจำตัวมากมาย เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องส่งเสียเลี้ยงดูบุตรถึง 3 คน โดยบุตรต่างพิการถึง 2 คน นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรับซื้อของโจรจำนวนมากและมูลค่าสูงจากผู้ที่ประกอบอาชญากรรมลักทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นพฤติการณ์อันเป็นภัยต่อสังคม ไม่สมควรรอการลงโทษให้แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปีนั้น เห็นว่า หนักเกินไปสมควรแก้ไขโทษของจำเลยให้เบาลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share