คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหมายเลขแดงที่ 2522/2527 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ บริษัทสุนิสา จำกัด จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภทศุลกากร ประเภทที่ 39.6 ข จึงพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยได้ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรโดยอาศัยพิกัดศุลกากรตามที่อ้างให้โจทก์วางประกันค่าอากรและขาดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นกรณีต้องคืนเงินประกันค่าอากรดังกล่าว เพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลากากร พ.ศ.2469 บัญญัติให้คืนพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้วางเงินประกันค่าอากรจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
เงินประกันค่าอากรกับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องเป็นเงินคนละส่วนกัน และแม้ว่ามาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าปรับ แต่การที่โจทก์ต้องวางประกันค่าปรับดังกล่าวถือว่าโจทก์ต้องเสียหายตั้งแต่วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ดอกเบี้ยในเงินประกันค่าปรับตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มิได้ขอวางเงินประกันดังกล่าวเอง แต่ฝ่ายพิกัดกับฝ่ายวิเคราะห์สินค้ามีความเห็นขัดแย้งกัน และต่อมาฝ่ายวิเคราะห์สินค้าส่งเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และให้โจทก์วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว อันเป็นการวางเงินประกันโทษทางอาญาโดยโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ระงับคดีแต่อย่างใด โจทก์ย่อมต้องเสียหายตั้งแต่วันวางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวและตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนี้นับแต่วันวางเงินค่าปรับเช่นเดียวกับการวางเงินประกันค่าอากรดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แม้โจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยอ้างมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ก็เป็นกรณีโจทก์ประสงค์ในดอกผลนิตินัยหาใช่กรณีโจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้องดังที่จำเลยอ้างไม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ ฯลฯ คำว่า ดอกเบี้ยไม่ได้หมายความเฉพาะดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้เท่านั้น อาจเป็นดอกเบี้ยจากหนี้กรณีอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระที่กำหนดอายุความ 5 ปีนี้ หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าอากรหรือเงินประกันอากร แต่ต่อมามีสิทธิได้คืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่มีการเรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ต้องเสียภาษี มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงบัญญัติให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน การที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืนมีผลทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ ซึ่งมีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)
มาตรา 10 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักและราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้นๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก หมายถึง ผู้เสียหายที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรที่ต้องเสียไว้เกินภายใน 2 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากร แม้มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน แต่กรณีของโจทก์มิใช่กรณีสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงซึ่งจะอยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่สำหรับกรณีดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดเป็นดอกเบี้ยในหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ โดยมีอายุความ 5 ปี นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี คือนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยคืนเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดให้แก่โจทก์คือวันที่ 23 มกราคม 2546 เท่านั้น โดยใช้ให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน สำหรับเงินประกันค่าอากรและเงินประกันค่าปรับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 เป็นเวลา 183 เดือน เป็นเงิน 30,881.25 บาท และใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับเงินต้นจากค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ควรได้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,798.18 บาท ค่าสินค้าตัวอย่างที่ไม่ได้คืนเป็นเงิน 10,176.50 บาท ค่าปรับและค่าเสียหายจากการที่มิได้รับตัวอย่างคืน ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งของได้ครบตามสัญญาเป็นเงิน 32,144.07 บาท ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 15,000 บาท และค่าดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินยอดรวมของดอกเบี้ยดังกล่าวรวมเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจำนวน 30,881.25 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,881.25 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีทนายความมาดำเนินคดี จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากรและเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายดังกล่าวตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 นั้น ต้องเป็นเงินประกันค่าอากรในส่วนที่เรียกเก็บไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียเพิ่มเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ทุกกรณีไป ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายน่าจะเป็นการคุ้มครองผู้นำเข้าหรือผู้เสียภาษีไม่ให้ต้องรับภาระในส่วนที่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือเสียเพิ่มหรือไม่ให้เจ้าพนักงานกลั่นแกล้งเรียกเงินประกันจำนวนสูงมากเกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระในภายหลัง ซึ่งในกรณีนี้เจ้าพนักงานของจำเลยได้เรียกประกันค่าอากรไม่เกินกว่าภาษีที่ต้องชำระหากสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีในพิกัดที่เจ้าพนักงานกำหนด และจำนวนเงินประกันน้อยกว่าเงินที่ต้องชำระตามพิกัดศุลกากรที่เจ้าพนักงานมีความเห็นดังกล่าว จึงไม่เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนั้น การคืนเงินประกันจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ประการใด นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ 7058/2525 คดีหมายเลขแดงที่ 2522/2527 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ บริษัทสุนิสา จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย ศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดศุลกากรประเภทที่ 39.6 ข จึงพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับสำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น จำเลยมิได้ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรโดยอาศัยพิกัดศุลกากรตามที่อ้างให้โจทก์วางประกันค่าอากรและขาดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเป็นกรณีต้องคืนเงินประกันค่าอากรดังกล่าวเพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติให้คืนพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้วางเงินประกันค่าอากรจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยต้องใช้ดอกเบี้ยสำหรับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าอากรกับค่าปรับเป็นคนละส่วนกัน ค่าปรับมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าค่าปรับคดีอาญา จำเลยเรียกเงินประกันค่าปรับจากโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 27 และมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 จำเลยได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวด้วย แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ค่าปรับจึงไม่ใช่ค่าอากร เงินประกันค่าปรับจึงไม่ใช่เงินประกันค่าอากรดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยต้องคืนเงินประกันค่าปรับเพราะไม่มีสิทธิจะยึดถือเงินประกันค่าปรับนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยของเงินประกันค่าปรับจากจำเลย ทั้งมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่ศาลภาษีอากรกลางอ้างอิงนั้นก็มิได้บัญญัติให้ดอกเบี้ยจากเงินประกันค่าปรับแต่อย่างใด จึงไม่สามารถอ้างเป็นกฎหมายให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยเงินประกันค่าปรับได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เงินประกันค่าอากรกับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องเป็นเงินคนละส่วนกัน และแม้ว่ามาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าปรับ แต่การที่โจทก์ต้องวางประกันค่าปรับดังกล่าวถือว่าโจทก์ต้องเสียหายตั้งแต่วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ดอกเบี้ยในเงินประกันค่าปรับตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มิได้ขอวางเงินประกันดังกล่าวเอง แต่ฝ่ายพิกัดกับฝ่ายวิเคราะห์สินค้าของจำเลยมีความเห็นขัดแย้งกัน และต่อมาฝ่ายวิเคราะห์สินค้าส่งเรื่องให้ฝ่ายคดีดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และให้โจทก์วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว อันเป็นการวางเงินประกันโทษทางอาญาโดยโจทก์มิได้ประสงค์ให้ระงับคดีแต่อย่างใด โจทก์ย่อมต้องเสียหายตั้งแต่วันวางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว และตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนี้นับแต่วันวางเงินประกันค่าปรับเช่นเดียวกับการวางเงินประกันค่าอากรดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แม้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยอ้างมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ2469 ก็เป็นกรณีโจทก์ประสงค์ในดอกผลนิตินัย หาใช่กรณีโจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้อง ดังที่จำเลยอ้างไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ดอกเบี้ยตามฟ้องขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ ฯลฯ คำว่า ดอกเบี้ยไม่ได้หมายความเฉพาะดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้เท่านั้น อาจเป็นดอกเบี้ยจากหนี้กรณีอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระที่กำหนดอายุความ 5 ปีนี้หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตามกรณีผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าอากรหรือเงินประกันค่าอากร แต่ต่อมามีสิทธิได้คืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่มีการเรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ต้องเสียภาษี มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 จึงบัญญัติให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน การที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืนมีผลทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ดังกล่าว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
สำหรับปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินค่าอากรที่ต้องจ่ายคืน ดังนั้น โจทก์ต้องขอคืนภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าตามมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า มาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักและราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก” หมายถึง ผู้เสียหายที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรที่ต้องเสียไว้เกินภายใน 2 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากร แม้มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน แต่กรณีของโจทก์มิใช่กรณีสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงซึ่งจะอยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับกรณีดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาด เป็นดอกเบี้ยในหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยมีอายุความ 5 ปี นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี คือนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยคืนเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดให้แก่โจทก์คือวันที่ 23 มกราคม 2546 เท่านั้น โดยให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนหรือร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดอกเบี้ยตามคำพิพากษานั้นเท่ากับ เป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นได้กลายเป็นต้นเงินไปแล้ว กรณีจึงไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้นตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากรในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินวางประกันค่าอากรจำนวน 19,000 บาท นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้วางเงินประกันค่าอากรถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืนแก่โจทก์โดยไม่คิดทบต้น และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้ค่าอากรขาดจำนวน 18,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดครบอายุความ 5 ปี ถึงวันที่ 23 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับเงินประกันค่าปรับดังกล่าวคืนจากจำเลย และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share