แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและผู้เสียหายที่ 2
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์กระทงแรกนั้น จำเลยโทรศัพท์นัดหมายเด็กหญิง จ. ผู้เสียหายที่ 3 ให้ไปพบแล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 ฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 เอง หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราแล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลย แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จากนั้นจำเลยรับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยาจึงสามารถที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยกระทงที่สองนั้น เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาอยู่ด้วย กระทั่ง ม. มารับผู้เสียหายที่ 3 กลับไป แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 277, 317 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคท้าย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์ (ที่ถูก เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี) ไปเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี รวมจำคุก 30 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 40 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 20 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ไม่เพิ่มโทษจำเลย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงจาริยาหรือโบ ผู้เสียหายที่ 3 อายุ 14 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับนางยุพา ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า โดยอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของนายยุทธนา ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 3 ไปพบที่ศาลานั่งรอรถโดยสารประจำทางหน้าวัดชากขุนวิเศษ ต่อมาจำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 3 ขึ้นรถโดยสารประจำทางสายระยอง – จันทบุรี ที่จำเลยเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร เมื่อถึงสถานีขนส่งจันทบุรี จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 3 ไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าโลตัสแล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย หลังจากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายที่ 3 ยินยอม วันรุ่งขึ้นจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปหานายแมว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลพังราด โดยจะให้นายแมวไปพูดกับผู้เสียหายที่ 2 ว่า จำเลยกับผู้เสียหายที่ 3 ได้เสียกัน แต่นายแมวไม่ว่าง จำเลยกับผู้เสียหายที่ 3 จึงกลับไปที่บ้านมารดาจำเลยแล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 จนสำเร็จความใคร่ ต่อมาผู้เสียหายที่ 3 และจำเลยไปหานายแมวอีกครั้ง แต่นายแมวไม่ว่าง ผู้เสียหายที่ 3 กับจำเลยจึงไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลยจำนวนมาก แต่จำเลยไม่มีเงินให้ จำเลยจึงกลับบ้านไป ส่วนผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยกับผู้เสียหายที่ 2 จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายที่ 3 บอกว่าจะมารับไปอยู่ด้วย ต่อมาจำเลยมารับผู้เสียหายไปที่ 3 ไปพักอาศัยที่บ้านอาจำเลย จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายที่ 3 ยินยอม ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 3 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย สำหรับข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปียุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารหรือไม่ สำหรับการกระทำความผิดกระทงแรก เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 3 รู้จักจำเลยเมื่อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ส่วนเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 เห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 เพิ่งรู้จักจำเลยได้ไม่นานนัก ทั้งผู้เสียหายที่ 3 ให้การว่า ผู้เสียหายที่ 3 กับจำเลยติดต่อกันมาโดยตลอดจนสนิทกัน เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 3 กับจำเลยยังไม่สมัครใจรักใคร่กัน เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์ของจำเลยในวันเกิดเหตุที่โทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 3 ไปพบที่ศาลารอรถโดยสารประจำทาง แล้วพาผู้เสียหายที่ 3 ไปบ้านจำเลย จากนั้นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 สมัครใจไปจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เอง แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นย่า แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของบิดาและย่าผู้เสียหายที่ 3 ถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแล อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 แล้ว จำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ต่อว่าจำเลยและเรียกค่าสินสอดจากจำเลยจำนวนมากแต่จำเลยไม่มีเงินให้ และหลังจากนั้นจำเลยได้มารับผู้เสียหายที่ 3 ไปอยู่ด้วย จนกระทั่งนายแมวได้มาพาผู้เสียหายที่ 3 กลับไปบ้าน พฤติการณ์ของจำเลยย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์ที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 เป็นภริยา เมื่อจำเลยยังมิได้มีภริยา จึงอยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 3 ฉันสามีภริยาได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีรายได้ประจำจึงอยู่ในวิสัยที่จะหาเงินสินสอดได้ และจำเลยไม่ได้นำบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ไปสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายที่ 3 เห็นว่า แม้จำเลยจะมีรายได้ประจำก็อาจไม่มีเงินเหลือเก็บสะสมก็ได้ ทั้งเมื่อไม่มีเงินสินสอดก็ย่อมไม่สามารถนำบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ไปสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 ได้เช่นกัน จึงมิใช่ข้อที่บ่งชี้ว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายที่ 3 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก
ส่วนการกระทำความผิดกระทงที่สอง เห็นว่า เมื่อจำเลยได้มาเจรจาสู่ขอผู้เสียหายที่ 3 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยไม่มีเงินค่าสินสอด ในวันรุ่งขึ้นจำเลยไปรับผู้เสียหายที่ 3 มาพักอาศัยที่บ้านอาจำเลย จนกระทั่งนายแมวมาพาผู้เสียหายที่ 3 ไปส่งที่บ้านผู้เสียหายที่ 3 พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 ไปเพื่อร่วมอยู่กินฉันสามีภริยา ฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายที่ 3 ไปจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่น เป็นจำคุก 5 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2