แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การที่สามีของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นการจัดการให้เป็นไปตามหมายขังของศาลยุติธรรม ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๙ ฉะนั้น อำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงเริ่มต้นต่อเนื่องมาจากหมายขังของศาลยุติธรรมและย่อมสิ้นสุดลง เมื่อศาลยุติธรรมออกหมายปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๗ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ นอกจากนี้ในกรณีที่ ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๙/๒ ศาลยุติธรรมยังอาจมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ในสถานที่อื่นนอกจาก เรือนจำ หรือวิธีการอื่นที่จำกัดการเดินทางและอาณาเขตก็ได้ หรือศาลยุติธรรมอาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน เมื่อปรากฏเหตุดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายอาญาของศาลยุติธรรม อีกทั้งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขัง ย่อมเป็นกฎหมายและกฎระเบียบที่เสริมให้ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีสามารถจัดการบังคับตามหมายจำคุกและหมายปล่อย รวมถึงคำสั่งใดๆ ของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย อันอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการคุมขังก่อนมีคำพิพากษาหรือจำคุกหลังคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีมาจากการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อันเป็นการจัดการบังคับตามหมายขังของศาลยุติธรรม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๘
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นางรสมาริน ตั้งนพกุล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๗๗/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอำพล ตั้งนพกุล จำเลยในคดีอาญา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีและได้เสียชีวิตลงในระหว่างการควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว เพราะเหตุเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีละเลยเพิกเฉยต่อหน้าที่ในการให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขัง ทั้งที่รับทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายมีอาการป่วย แต่กลับไม่กระทำการรักษาผู้ตายแบบเชิงเฝ้าระวังตามมาตรฐานการรักษา คงให้ยาไปตามธรรมดาปกติ โดยแพทย์ผู้ทำหน้าที่ไม่ได้ตรวจวินิจฉัย ให้ทราบถึงสาเหตุการเจ็บป่วยที่แท้จริง และไม่เปิดโอกาสให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลภายนอกขาดเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมต่อการรักษาให้ทันท่วงที ทั้งยังเลือกปฏิบัติในการให้การรักษาพยาบาลต่อผู้ต้องขัง การเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑ์สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น รวมเป็นเงิน ๒,๐๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด เจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองมีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมุ่งพัฒนาเป็นองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดีมีสุขภาพกายและจิตที่ดี ไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพที่สุจริต และสามารถดำรงชีวิตในสังคมภายนอกได้อย่างปกติ โดยสังคมให้การยอมรับ และมีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับการสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และข้อ ๑ (๓) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๕ กรณีจึงเห็นได้ว่า หน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีในการดำเนินการเกี่ยวกับการสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่เกิดความเจ็บป่วยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่ในทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่แยกต่างหากจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาใช่หน้าที่ที่เกี่ยวกับการ บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ระบุให้จำคุกหรือกักขัง ซึ่งหมายถึงการจำกัดอิสรภาพแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า นายอำพล ตั้งนพกุล สามีของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ถูกควบคุมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้เสียชีวิตลงในระหว่างการควบคุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๒๙ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๕ ข้อ ๓ ก (๗) (จ) และ ข้อ ๓ ก (๙) (จ) ประกอบกับ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ข้อ ๗๒ และข้อ ๗๓ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ และขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น ประกอบ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ เป็นกรณีผู้ถูกฟ้องคดีใช้สิทธิในฐานะที่เป็นทายาทของผู้ตาย เรียกร้องให้ชำระหนี้เงินค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดซึ่งเกิดขึ้นและเป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นหน่วยงานของรัฐผู้ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ โดยมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในประเด็นข้อสำคัญว่า เป็นเพราะเหตุไม่กระทำการรักษาพยาบาลผู้ตาย ตามมาตรฐานการรักษา อันต้องถือว่าเป็นคดีที่พิพาทกันในเรื่องการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นกรณีการฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกละเมิดไม่พอใจการใช้อำนาจตามกฎหมายในการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และความเสียหายในคดีนี้ ก็มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจำเลยในคดีอาญา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีและได้เสียชีวิตลงในระหว่างการควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว โดยกล่าวอ้างในฟ้องว่าการเสียชีวิต เพราะเหตุเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีละเลยเพิกเฉยต่อหน้าที่ในการให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขัง ทั้งที่รับทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายมีอาการป่วยแต่กลับไม่กระทำการรักษาผู้ตายแบบเชิงเฝ้าระวังตามมาตรฐาน การรักษา คงให้ยาไปตามธรรมดาปกติโดยแพทย์ผู้ทำหน้าที่ไม่ได้ตรวจวินิจฉัยให้ทราบถึงสาเหตุ การเจ็บป่วยที่แท้จริง และไม่เปิดโอกาสให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลภายนอก และขาดเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมต่อการรักษาให้ทันท่วงที ทั้งยังเลือกปฏิบัติในการให้การรักษาพยาบาลต่อผู้ต้องขัง การเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑ์สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด เจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากการที่สามีของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นการจัดการให้เป็นไปตามหมายขังของศาลยุติธรรม ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๙ ฉะนั้น อำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงเริ่มต้นต่อเนื่องมาจากหมายขังของศาลยุติธรรมและย่อมสิ้นสุดลง เมื่อศาลยุติธรรมออกหมายปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๗ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ นอกจากนี้ในกรณีที่ ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๙/๒ ศาลยุติธรรมยังอาจมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำ หรือวิธีการอื่นที่จำกัดการเดินทางและอาณาเขตก็ได้ หรือศาลยุติธรรมอาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน เมื่อปรากฏเหตุดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายอาญาของศาลยุติธรรม อีกทั้งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขัง ย่อมเป็นกฎหมายและกฎระเบียบที่เสริมให้ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีสามารถจัดการบังคับตามหมายจำคุกและหมายปล่อย รวมถึงคำสั่งใดๆ ของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย อันอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังก่อนมีคำพิพากษาหรือจำคุกหลังคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ตาม ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีมาจากการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อันเป็นการจัดการบังคับตามหมายขังของศาลยุติธรรม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางรสมาริน ตั้งนพกุล ผู้ฟ้องคดี กรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ