แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อใบแต่งทนายตามฟ้องมีข้อความตามแบบพิมพ์ใบแต่งทนาย โดยไม่ปรากฏข้อความนอกเหนือไปจากข้อความตามแบบพิมพ์ จึงเป็นเรื่องการแต่งตั้งทนายให้มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความ มิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา 1(9)
การที่ให้มีการรับรองในใบแต่งทนายว่าผู้แต่งทนายได้เซ็นใบแต่งทนายต่อหน้า ก็เป็นเพียงวิธีการอันหนึ่งที่จะให้เป็นหลักฐานว่าผู้แต่งทนายได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายตามนั้นจริง และเมื่อผู้แต่งทนายได้เซ็นใบแต่งทนายให้ไปจริง คำรับรองดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ไม่อาจเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
การยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมเป็นการยื่นคำคู่ความเข้าเป็นจำเลยในการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไม่เป็นผิดตามมาตรา 137
ฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นผิดตามมาตรา 162
ฟ้องไม่ได้บรรยายให้เห็นได้เลยว่าจำเลยเป็นทนายความ อันจะถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการงานในวิชากฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 269.
(เฉพาะปัญหาที่ 1 พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2509).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตพูดจาหลอกลวงโจทก์โดยกล่าวแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดความจริงว่าธนาคารเกษตรจำกัด สาขาจังหวัดตรัง ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในการบังคับจำนองด้วยให้โจทก์เซ็นชื่อในใบแต่งทนายให้ช่วยทำคำให้การแก้ต่างดำเนินคดีแทน จำเลยรับรองว่ามิให้โจทก์ต้องเสียเงินแต่อย่างใด โจทก์หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลย จึงเซ็นชื่อในใบแต่งทนายให้ ความจริงธนาคารเกษตรไม่ได้ฟ้องโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้นำ ใบแต่งทนายดังกล่าวไปสมคบกับจำเลยที่ ๒ ยื่นต่อศาลแทนโจทก์ และยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้าเป็นจำเลยร่วม และจำเลยที่ ๒ ลงชื่อรับรองต่อศาลโดยกล่าวคำเท็จให้ศาลหลงเชื่อว่าโจทก์ได้เซ็นใบแต่งทนายต่อหน้าแล้ว ความจริงโจทก์ไม่ได้มาพบจำเลยและไม่ได้รู้จักจำเลยที่ ๒ เลย ทั้งไม่ได้ตกลงให้จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๑,๒ ในคดีแพ่งดำที่ ๔๗๗/๒๕๐๗ นั้นเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนยิ่งนักขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑,๓๔๒,๙๐,๙๑,๑๓๗,๑๖๒,๘๔,๒๖๙.
ก่อนไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แถลงว่าคดีนี้สืบเนื่องมาจากคดีแพ่งดำที่ ๔๗๗/๒๕๐๗ ของศาลจังหวัดตรัง ซึ่งธนาคารเกษตรจำกัด ฟ้องเรียกเงินกู้ซึ่งนายเดชกับพวกค้างชำระจากนางจงจิตรและจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ค้ำประกันนางจงจิตร ฯลฯ โจทก์คดีนี้ได้แต่งจำเลยที่ ๒ เป็นทนาย และยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต ต่อมาโจทก์คดีนี้ขอถอนจำเลยที่ ๒ จากการเป็นทนายและขอถอนตัวจากการเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าหลงเชื่อจำเลยที่ ๑ และไม่มีเจตนาทำเช่นนั้น โจทก์คดีนั้นคัดค้าน โจทก์คดีนี้รับว่าได้ทำสัญญาจำนองค้ำประกันนางจงจิตรจริง และทำสัญญาค้ำประกันนายเดชกับพวกผู้กู้เงินของโจทก์คดีนั้นอีกด้วย ศาลยกคำร้องที่ขอถอนคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อนุญาตให้ถอนทนาย โจทก์ยื่นคำให้การและอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ถอนตัวจากการเป็นจำเลยร่วม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ขณะนี้อยู่ระหว่างอายุความฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ๑. ที่หาว่าจำเลยหลอกลวงให้โจทก์เซ็นใบแต่งทนายโดยจำเลยกล่าวเท็จว่า โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับนางจงจิตรในคดีแพ่งดำที่ ๔๗๗/๒๕๐๗ โจทก์หลงเชื่อจึงได้ลงชื่อในใบแต่งทนายให้ไป ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยหลอกลวงให้โจทก์เซ็นชื่อในใบแต่งทนายให้ทำคำให้การแก้ต่างดำเนินคดีแทน โจทก์หลงเชื่อจึงเซ็นชื่อในใบแต่งทนายให้แก่จำเลยไป ตามฟ้องของโจทก์จึงปรากฏว่า โจทก์เซ็นชื่อในใบแต่งทนายซึ่งมีข้อความตามแบบพิมพ์ในใบแต่งทนาย โดยไม่ปรากฏข้อความนอกเหนือไปจากข้อความตามแบบพิมพ์ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่พิจารณาประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑(๙),๓๔๑,๓๔๒ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๒ แล้วเห็นว่า ใบแต่งทนายตามที่กล่าวในฟ้องเป็นเรื่องการแต่งตั้งทนายให้มีอำนาจว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความ มิใช่เอกสารเป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา ๑(๙) จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๔๑,๓๔๒
๒. ที่หาว่าจำเลยที่ ๑ ทำใบแต่งทนายที่หลอกลวงให้โจทก์เซ็นชื่อไปสมคบกับจำเลยที่ ๒ ยื่นต่อศาลโดยทำคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม จำเลยที่ ๒ ได้ลงชื่อรับรองต่อศาลกล่าวเท็จให้ศาลหลงเชื่อว่าโจทก์ได้เซ็นใบแต่งทนายต่อหน้าจำเลยที่ ๒ ความจริงโจทก์ไม่ได้พบ ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้ตกลงให้ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า การที่ให้มีการรับรองเช่นนั้น ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะให้เป็นหลักฐานว่า ผู้แต่งทนายได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายตามนั้นจริง แต่ใบแต่งทนายตามฟ้องนี้ โจทก์ผู้แต่งทนายได้กล่าวในฟ้องรับอยู่แล้วว่า ได้เซ็นใบแต่งทนายตามฟ้องนี้ให้ไปจริง จึงเห็นว่าคำรับรองดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ส่วนการยื่นคำร้องสอดในกรณีนี้เป็นการยื่นคำคู่ความเข้าเป็นจำเลยในการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไม่เป็นผิดตามมาตรา ๑๓๗
๓. ความผิดตามมาตรา ๑๖๒ ที่โจทก์ขอมาด้วยนั้น เป็นความผิดสำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร และได้กระทำการนั้นในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่ฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานอย่างใด จึงไม่เป็นความผิด
๔. ที่หาว่าจำเลยกระทำผิดมาตรา ๒๖๙ นั้น เห็นว่า มาตรา ๒๖๙ ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือวิชาชีพอื่นใด แต่ตามฟ้องไม่ได้บรรยายให้เห็นได้เลยว่าจำเลยที่ ๒ เป็นทนายความอันจะถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการงานในวิชากฎหมาย ฟ้องจึงไม่เป็นผิดตามมาตรานี้ พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.