แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุง ถนนบนที่ดิน ที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน 4 ต้น โดยมีส.เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนน และโจทก์รู้เห็นการก่อสร้างทั้งโจทก์และส.ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ที่ 1และที่ 3 ได้ โจทก์ตั้งหัวเรื่องในคำฟ้องว่า ละเมิด เรียกค่าเสียหายแต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า หากการรื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์คำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายรวมทั้งการปลูกสร้างรุกล้ำอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ด้วยศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ได้ สิ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับได้ เมื่อเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย และเมื่อสิ่งปลุกสร้างคดีนี้ เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ย่อมไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6515 และ 6516 ที่ดินทั้งสองโฉนดต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกันด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดถนนประชาอุทิศด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6513ของนายสวง ปานสง่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2533 นายสวงได้อุทิศที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6513 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามบางส่วนเป็นทางสาธารณประโยชน์ กว้าง 8.50 เมตร โดยเว้นส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามกว้างประมาณ 1.50 เมตรซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สร้างถนนคอนกรีตบนที่ดินส่วนที่นายสวงยกให้ดังกล่าวด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 1ได้สร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นแนวยาวตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 62 ตารางวา จำเลยที่ 3ได้ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามรวม 4 ต้นโจทก์ทั้งสามเพิ่งทราบการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2536 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2รื้อถอนคอนกรีตในส่วนที่สร้างรุกล้ำที่ดินทั้งสองโฉนดของโจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำการถอนเสาไฟฟ้าจำนวน 4 ต้น ที่ปักอยู่ในโฉนดของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ10,000 บาท นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน116,666.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 8,500.18 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย125,166.80 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเดือนละ10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอน หากการรื้อถอนไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าที่ดินโจทก์ทั้งสามตารางวาละ 60,000 บาท รวม 62 ตารางวาเป็นเงิน 3,720,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้สร้างถนนพิพาทโดยเปิดเผยและโดยสุจริต และถนนพิพาทนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับการสร้างโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312ประกอบกับมาตรา 4 ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องให้รื้อถอนนอกจากนี้ถนนดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม 2535 แต่โจทก์ทั้งสามเพิ่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2537 ฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ1 ปี จำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 3ได้ดำเนินการปักเสาพาดสายไฟฟ้าลงในที่ดินของจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 420,000 บาท และจำเลยที่ 3 ชดใช้ให้เป็นเงิน 56,000 บาท คำขออื่น ๆ นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 กับที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 6513 เป็นของนายสวง ปานสง่า ที่ดินกว้างประมาณ10 เมตร ลักษณะที่ดินยาวเป็นรูปถนน แนวเขตด้านยาวจดเขตที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6515 และ 6516 ของโจทก์ทั้งสาม เดิมที่ดินของนายสวงทำถนนลาดยางกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวตลอดทั้งแปลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 นายสวงทำหนังสืออุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์กว้าง 8.50 เมตร ยาวตลอดทั้งแปลงโดยเว้นเนื้อที่ดินจดแนวเขตที่ดินโจทก์ทั้งสามไว้ 1.50 เมตรปี 2534 จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่นายสวงอุทิศเป็นสาธารณประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแต่การก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามตลอดตามแนวเขตที่จดที่ดินโจทก์ทั้งสามเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางวาและจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามตามแนวขอบถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 4 ต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสามหรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจขอให้รื้อถอนคอนกรีตและเสาไฟฟ้าและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยที่ 1ว่า โจทก์ทั้งสามจะขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินที่รุกล้ำได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์ตั้งหัวเรื่องในคำฟ้องว่าละเมิด เรียกค่าเสียหาย แต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า หากการรื้อถอนและเสาไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายรวมทั้งการปลูกสร้างรุกล้ำอันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ด้วย ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามได้ กรณีนี้สิ่งปลูกสร้างมิใช่โรงเรือน แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันไม่อาจนำมาตรา 1312 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ และเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆซึ่งติดที่ดินด้วย มาตรา 1310 บัญญัติว่า บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ให้เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่สิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเป็นเจ้าของได้ คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 วรรคสองดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ควรชดใช้ราคาที่ดินให้โจทก์ทั้งสามเท่าใดและที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 3 ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุที่ดินโจทก์ราคาประมาณตารางวาละ 28,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ก่อนสร้างถนนคอนกรีตที่ดินของโจทก์ทั้ง 2 แปลง คิดตามราคาประเมินรวมเป็นราคาทั้งสิ้น43,680,000 บาท หลังจากสร้างคอนกรีตแล้วราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัวโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ที่ศาลกำหนดให้ใช้ค่าที่ดิน420,000 บาท นั้นสูงเกินไป เห็นว่า การสร้างถนนคอนกรีตเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน หากจำเลยไม่สร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ราคาที่ดินของโจทก์ก็คงต้องเพิ่มตามสาธารณูปโภค จึงจะนำเอามูลค่าที่ดินที่เหลือส่วนที่เพิ่มขึ้นมาหักกลบลบกับที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำไม่ได้
โจทก์ทั้งสามฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยที่ 3 ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้ามาในที่ดินจำนวน 4 ต้น เป็นแนวยาวตลอดที่ดินของโจทก์ทั้งสาม รวมเนื้อที่แนวเสาไฟฟ้ารุกล้ำประมาณ 47 ถึง62 ตารางวา นั้น เห็นว่า ยอดบนเสาไฟฟ้ามีคานยื่นรับสายไฟฟ้าเข้ามาในถนน แนวของสายไฟฟ้าจึงพาดผ่านอยู่บนแนวถนนที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ราคาที่ดินให้โจทก์ทั้งสามอยู่แล้ว คงมีเฉพาะส่วนของโคนเสาไฟฟ้าที่ปลูกรุกล้ำเข้าในที่ดินโจทก์ทั้งสาม และฟังข้อเท็จจริงว่า เสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าในที่ดินโจทก์ทั้งสามต้นละประมาณ 35 เซนติเมตร คูณ 50 เซนติเมตรเท่ากับ 0.175 ตารางเมตร 4 ต้น รวมเป็น 0.70 ตารางเมตร เท่ากับ 0.175 ตารางวา ให้ใช้ค่าที่ดินตารางวาละ 28,000 บาทจำเลยที่ 3 ต้องใช้ค่าที่ดินเป็นเงิน 4,900 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 4,900 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์