คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ซึ่งต่างอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฏ.ฯ ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็เพราะจำเลยที่ 3 ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อไม่ตรงกับมติคณะผู้บริหาร อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการสร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวทั้งนี้ต้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 มาตรา 18และมาตรา 19 (1) และ (2) (ง) การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด
การที่จำเลยที่ 4 ได้ทำการสำรวจและทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อให้เป็นไปตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อต้องการทราบว่าลักษณะรูปแผนที่และแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าว เพื่อเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาประกอบเรื่องร้องทุกข์ ส่วนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็อยู่ในดุลพินิจของกรรมการแต่ละคน จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตทางหลวงที่ถูกเวนคืนดังกล่าว
ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของจำเลยที่ 3 ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งบัญญัติไว้ในภาค 1 หมวด 3 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกาพ.ศ.2522 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนี้ได้ และในการพิจารณาเรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็พิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่า ทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จะสร้างถูกต้องเป็นไปตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 หรือไม่และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ไม่ได้พิจารณาถึงที่ดินหรือการกระทำของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องทุกข์แต่อย่างใดดังนั้น การที่จำเลยที่ 8 และที่ 9 มิได้เรียกโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา ไม่ถือว่ากระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อในที่ดินของโจทก์ก็กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ พ.ศ.2535 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ซึ่งตามพ.ร.ฎ.และประกาศดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แล้วกล่าวคือ หากจำเลยที่ 1 ได้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้
ผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงินค่าทดแทนโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์แล้ว และจำเลยที่ 1 จะเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้ง การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองและใช้ที่ดินของโจทก์สร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด60 วันนับแต่วันที่แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าว รวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำนั้น
การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งให้ถือเอาแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จำเลยที่ 4 จัดทำขึ้น เป็นหลักในการสร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าว สอดคล้องกับคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ถือแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำขึ้นเป็นหลัก ทั้งสอดคล้องกับรูปแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายนั้น การสั่งการของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าทำละเมิดต่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืน

Share