คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ความผิดฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและ ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำความผิดต่างกัน แต่ความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อจำเลยได้เสพวัตถุออกฤทธิ์และปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ในเวลาเดียวกันจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าลักษณะและสภาพความผิดการกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยขับรถยนต์บรรทุกขณะเสพวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มเมทแอมเฟตามีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภยันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ พฤติการณ์ของจำเลยนับว่าร้ายแรง การไม่รอการลงโทษจำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน จึงไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-3306 ขอนแก่นไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมาโดยเสพเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี, 106 ตรีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิเรียงกระทงลงโทษฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์จำคุก 1 ปี และฐานขับขี่รถยนต์โดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก8 เดือน และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้นเห็นว่า แม้ความผิดฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำความผิดต่างกันแต่ความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน และข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ความเพียงว่าจำเลยได้เสพวัตถุออกฤทธิ์และปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ในวันเวลาเดียวกัน จึงเป็นที่เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าตามลักษณะและสภาพความผิดการกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่หลายกรรมต่างกันไม่ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษนั้นเห็นว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกขณะเสพวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มเมทแอมเฟตามีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภยันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ พฤติการณ์ของจำเลยนับว่าร้ายแรงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531)เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังนั้นการเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยจึงเป็นการเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งมีระวางโทษแตกต่างจากพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ตรี อันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ตรีเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจึงชอบแล้วแต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน จึงไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share