แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสาม จำเลย และ ล. เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยกับนายลับเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิริบทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย เมื่อปี 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนายลับกับจำเลยให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวย ต่อมานายลับได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีมรดกอีกคดีหนึ่ง แล้วบุคคลทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนายลับตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อปี 2543 ต่อมาจำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกเป็นของจำเลย โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิได้ริบทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ศาลมีคำสั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสาม คนละ 50,000 บาท
จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินและเงินสดที่จำเลยได้รับจากนายลับตามสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย ซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดิน 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลย คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด และนำเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินสดให้โจทก์ทั้งสามคนละ 50,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน และให้จำเลยแบ่งเงินมรดกให้โจทก์ทั้งสามคนละ 25,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 4,687.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 4,687.50 บาท แก่จำเลย
โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า นางกิมฮวย ชื่นอุรา เจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 5 คน คือ นางกิมฮวย นางเล็ก เขียนนิลศิริ มารดาจำเลย นายชูศักดิ์ อินทรกำแหง บิดาโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก่อนนางกิมฮวยถึงแก่ความตาย มีนายลับ ชื่นอุรา เป็นสามีชอบด้วยกฎหมาย นางกิมฮวยถึงแก่ความตายปี 2534 นายลับสามีได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางกิมฮวย นางเล็กมารดาจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้าน แต่ในที่สุดตกลงกันให้จำเลยและนายลับร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวยและศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยและนายลับเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน หลังจากนั้นทั้งนายชูศักดิ์และนางเล็กได้ถึงแก่ความตาย และในวันที่ 10 มีนาคม 2542 นายลับเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดกหลายรายการ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 696/2543 ของศาลชั้นต้น ต่อมานายลับและจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลโดยนายลับตกลงแบ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเลขที่ 1475 ให้แก่จำเลย ซึ่งคือที่ดินพิพาทในคดีนี้ และนายลับยังได้ตกลงชำระเงินอีกจำนวน 200,000 บาท แก่จำเลยเป็นค่าสลากออมสินที่นายลับได้รับจากนางกิมฮวยและเป็นค่าที่นายลับเก็บกินผลประโยชน์จากทรัพย์มรดก โดยจำเลยไม่ติดใจในทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยอีกและให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.9 โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องแบ่งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง จากจำเลย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายลับจนศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โดยให้จำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวย และให้นายลับเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียว เมื่อนายลับแบ่งทรัพย์มรดกให้จำเลย หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายก็ต้องไปฟ้องเรียกร้องเอาจากนายลับนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินสดจำนวน 200,000 บาท ที่นายลับแบ่งให้จำเลยเป็นทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกับจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วย การที่นายลับกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกแม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอม สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น เมื่อจำเลยและนายลับแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยได้รับไปได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีเพียงประการเดียวว่า นายลับสละสิทธิ์ในส่วนแบ่งมรดกที่ดิน 4 แปลง และเงินสดจำนวน 200,000 บาทหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า การที่นายลับทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยยอมแบ่งที่ดินพิพาท 4 แปลง และเงินสดจำนวน 200,000 บาท ให้แก่จำเลย ย่อมถือว่านายลับมีเจตนาสละสิทธิ์ในทรัพย์มรดกส่วนนี้แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่นายลับยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่านายลับสละมรดก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เจ้ามรดกยังมีนายลับเป็นคู่สมรส นายลับย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 (2) อีกกึ่งหนึ่งคงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง และเงินสดให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วนใน 8 ส่วน จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน