แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินไปโดยมีจำเลยที่ 3 ร่วมด้วยนั้น ได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็นผลโดยตรงให้เกิดมีการยักยอกเงินรายนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่น
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้าเป็นเรื่องกำหนดอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบโดยทั่ว ๆ ไปของคณะเทศมนตรีในทางบริหารกิจการของเทศบาลว่ามีอยู่เพียงใดเท่านั้น หาได้หมายความเลยไปถึงว่าหากเกิดการทุจริตในกิจการของเทศบาลขึ้นโดยคณะเทศมนตรีมิได้มีส่วนรู้เห็นทำละเมิดด้วยแล้ว คณะเทศมนตรีจะต้องรับผิดด้วยไม่
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการเงินที่ว่า หากมีการทุจริตเกี่ยวกับการรักษาเงินรายได้หรือเงินอื่นใดของเทศบาลทุกหน่วยงานให้นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาลหรือผู้รักษาการแทน ฯลฯ ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้แก่เทศบาลจนครบนั้น ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่การงานภายในวงงานอันจำกัด ไม่ใช่กฎหมาย ผู้ออกระเบียบจะกำหนดวิธีปฏิบัติให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการของเทศบาลต้องปฏิบัติกิจการนั้นอย่างไรก็ย่อมทำได้ แต่การไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ว่านั้นหากจะมีความรับผิดทางกฎหมายอย่างไร ย่อมเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง การที่จะวางระเบียบหรือข้อบังคับไว้เด็ดขาดเลยไปถึงว่า หากเกิดการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการกำหนดก่อให้เกิดหนี้ละเมิด โดยผู้นั้นมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยนั้น หาทำได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลา จำเลยที่ ๒ รักษาการในตำแหน่งสมุหบัญชีเทศบาลเมืองยะลา จำเลยที่ ๓ รักษาการในตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองยะลา จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ดูแลรักษารับผิดชอบงานของเทศบาลให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ข้อ ๒๑ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกเทศมนตรี เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๓๙ ยังต้องรับผิดชอบทั้งการงานและการเงินของเทศบาล แต่จำเลยที่ ๑ ละเลยไม่ปฏิบัติควบคุม ทำให้เทศบาลเมืองยะลาต้องเสียหาย คือ จำเลยที่ ๒ ได้ยักยอกเงินของเทศบาลไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ๒๕,๓๘๐ บาท จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการรักษาเงิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาเงินตามระเบียบการคลังเทศบาลข้อ ๒๗ จำเลยที่ ๓ ลงชื่อรับรองในบัญชียอดเงินคงเหลือว่าเป็นการถูกต้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน ๒๕,๓๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่ได้รู้เห็น ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ รับเงินไว้ในความครอบครอง เงินดังกล่าวยังไม่เข้าคลังเทศบาล
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าไม่ได้ยักยอกเงิน
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ซ้ำกับคดีดำที่ ๙๑/๒๕๐๑ คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อเท็จจริงต่อไป แล้วพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชดใช้เงินให้โจทก์ ๒๕,๓๘๐ บาท ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งศาลพิพากษาไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ ๙๑/๒๕๐๑ กับให้เสียดอกเบี้ยเฉพาะจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเฉพาะ จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นนายกเทศมนตรีว่า จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒, ๓ ชดใช้เงินที่จำเลยที่ ๒ ยักยอกไปคืนให้โจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๒ ได้ยักยอกเงินไปโดยมีจำเลยที่ ๓ ร่วมด้วยนั้น ได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ อันเป็นผลโดยตรงให้เกิดมีการยักยอกเงินรายนี้แต่ประการใด ได้ความจากพยานโจทก์ว่า กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบการควบคุมเงินของเทศบาลให้มีกรรมการรักษาเงิน ๓ คน เหตุที่มีการยักยอกรายนี้ เพราะไม่มีการควบคุมการเงินให้รัดกุมและเหตุที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดร่วมกับจำเลยอื่นด้วย ก็โดยถือว่าต้องรับผิดตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีการมุ่งไปในทางว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมทุจริตด้วย
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ จงใจด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหาย ข้อวินิจฉัยนี้ถึงที่สุดแล้ว โดยจำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ ๒ ยักยอกเงินตามฟ้อง มิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ยื่นคำแก้อุทธรณ์ไว้แล้วว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ได้จงใจด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย นั้น หมายถึงการที่จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๒ เสมียนแผนกคลังเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสมุหบัญชีเป็นการชั่วคราวอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น หาได้หมายความถึงว่าจำเลยที่ ๑ จงใจหรือประมาทเลินเล่อเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๑ อันเป็นผลโดยตรงให้จำเลยที่ ๒ ทำการยักยอกทรัพย์ตามฟ้องนี้ไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกเทศมนตรีได้ปฏิบัติการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๓๙ ซึ่งมีความว่า “ให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า” จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่น ชดใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา ๓๙ นี้ เป็นเรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยทั่ว ๆ ไปของคณะเทศมนตรีในทางบริหารกิจการของเทศบาลว่ามีอยู่เพียงใดเท่านั้น หาได้หมายความเลยไปถึงว่า หากเกิดการทุจริตในกิจการของเทศบาลขึ้น โดยคณะเทศมนตรีมิได้มีส่วนรู้เห็นทำละเมิดด้วยแล้วคณะเทศมนตรีจะต้องรับผิดชอบด้วยไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเรื่องความรับผิดทางละเมิดซึ่งเป็นความรับผิดทางกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการเงินข้อ ๒๑ ซึ่งมีความว่า “บรรดาเงินรายได้หรือเงินอื่นใดของเทศบาลทุกหน่วยงาน ให้นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาลหรือผู้รักษาการแทน สมุหบัญชีหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้รับผิดร่วมกัน ในการเก็บรักษาเงินดังกล่าวนี้ หากปรากฏว่ามีการทุจริตใด ๆ อันเกี่ยวกับการรักษาเงินดังกล่าวนี้ ให้บุคคลดังกล่าวร่วมกันรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้แก่เทศบาลจนครบ” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่การงานภายในวงงานอันจำกัด ไม่ใช่กฎหมาย ผู้ออกระเบียบจะกำหนดวิธีปฏิบัติให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการของเทศบาลต้องปฏิบัติกิจการนั้นอย่างไร ก็ย่อมทำได้ แต่การไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ว่านั้น หากจะมีความรับผิดทางกฎหมายอย่างไร ย่อมเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง การที่จะวางระเบียบหรือข้อบังคับไว้เด็ดขาดเลยไปถึงว่า หากเกิดการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการกำหนดก่อให้เกิดหนี้ละเมิด โดยผู้นั้นมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยนั้น หาทำได้ไม่ การที่จะให้บุคคลต้องรับผิดชอบเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องบัญญัติไว้โดยกฎหมาย คือ ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยละเมิดนั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ อันเป็นผลโดยตรง ให้จำเลยที่ ๒ ยักยอกเงินตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์
พิพากษายืน