คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3586/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 58 ยื่นฟ้องโดยอ้างว่ามีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามบัญชีรายละเอียด เอกสารท้ายคำฟ้อง รวม 24,900 บาท ในคำขอท้ายคำฟ้องก็ระบุจำนวนเงิน 24,900 บาท เมื่อศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาได้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนนี้ตรงกับต้นร่างคำพิพากษาแต่เมื่อจัดพิมพ์คำพิพากษาแล้วปรากฏว่าได้พิมพ์จำนวนเงินที่ให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 58 เป็นเงิน 14,900 บาท จึงเป็นกรณีการพิมพ์จำนวนค่าชดเชยผิดพลาด เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาครั้งแรกปกติย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะได้ล่วงเลยขั้นตอนตามกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางจะพึงแก้ไขได้แล้ว แต่ศาลฎีกาไม่มีโอกาสได้ทราบถึงความผิดพลาดในครั้งนั้น จึงมิได้แก้ไขให้ถูกต้องไปในคราวเดียวกันกรณีการพิมพ์ผิดพลาดเช่นนี้ ถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นนี้ในภายหลังให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกสิบเจ็ด โจทก์ที่ ๕๘ ยื่นคำร้องว่าศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ ๕๘ เป็นเงิน ๒๔,๙๐๐ บาท แต่ได้พิมพ์คำพิพากษาผิดพลาดเป็นว่าให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ ๕๘ เพียง ๑๔,๙๐๐ บาท ซึ่งเป็นการผิดพลาดเล็กน้อย ขอให้แก้ไขคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในจำนวนเงิน ๑๔,๙๐๐ บาท เป็น ๒๔,๙๐๐ บาท
วันนัดพิจารณาคำร้อง จำเลยที่ ๒ แถลงคัดค้านว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลฎีกาแก้ไข จึงไม่ควรอนุญาต
ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้อง
โจทก์ที่ ๕๘ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่า โจทก์ที่ ๕๘ ได้ยื่นคำฟ้องโดยอ้างว่ามีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามบัญชีรายละเอียด เอกสารหมายเลข ๕ ท้ายคำฟ้องแผ่นที่ ๒๙ ระบุว่า รายการที่เรียกร้อง ๑. ค่าชดเชยคิดตามค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน รวม ๒๔,๙๐๐ บาท (สองหมื่นสี่พันเก้าร้อยบาท) และในคำขอท้ายคำฟ้องก็ระบุจำนวนเงินไว้ ๒๔,๙๐๐ (สองหมื่นสี่พันเก้าร้อยบาท) เมื่อศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาก็บังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนนี้ตรงกับต้นร่างคำพิพากษา แต่เมื่อจัดพิมพ์คำพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าได้พิมพ์จำนวนเงินที่ให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์ที่ ๕๘ เป็นเงิน ๑๔,๙๐๐ บาท โดยตัวเลขหลักหมื่นผิดพลาดจากเลข ๒ เป็นเลข ๑ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาครั้งหนึ่งแล้ว ปกติก็ย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะได้ล่วงเลยขั้นตอนตามกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางจะพึงแก้ไขได้แล้ว ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ ๕๘ จึงชอบด้วยกฎหมาย แต่คดีนี้ได้ความตามที่ศาลฎีกาได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่าเหตุที่ตัวเลขแสดงจำนวนเงินไม่ตรงกับต้นร่างคำพิพากษานั้นได้พิมพ์ผิดพลาดไป ซึ่งเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาครั้งแรกนั้นศาลฎีกาไม่มีโอกาสได้ทราบถึงความผิดพลาดจึงมิได้แก้ไขให้ถูกต้องไปในคราวเดียวกัน กรณีการพิมพ์ผิดพลาดเช่นนี้ ถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นนี้ให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว และได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรแก้ไขตัวเลขของจำนวนเงินค่าชดเชยของโจทก์ที่ ๕๘ ตามคำพิพากษาให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง
พิพากษาให้แก้จำนวนเงินของค่าชดเชยสำหรับโจทก์ที่ ๕๘ ให้จำเลยทั้งสองชำระเป็นเงิน ๒๔,๙๐๐ บาท

Share