แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ก่อนที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและบันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินตามทะเบียนการหย่าระบุว่า ที่ดินพร้อมบ้านและทรัพย์สินทุกอย่างในบ้านยกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับไปจดทะเบียนขายที่ดินและบ้านเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รับว่า จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 พนักงานที่ดินกำหนดราคา 200,000 บาท แต่ความจริงไม่ได้มีการชำระเงินกัน แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตและข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการให้โดยเสน่หามิใช่ซื้อขาย ดังนั้น เมื่อกรณีเป็นการให้โดยเสน่หาเพียงแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้เป็นผู้รู้ว่าตนเป็นหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนการฉ้อฉลได้ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่จำเลยที่ 1 โอนขายเฉพาะส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 100635 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ให้แก่จำเลยที่ 2 เสีย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่จำเลยที่ 1 โอนขายเฉพาะส่วนที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ โฉนดเลขที่ 100635 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 100635 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 17 ตารางวา พร้อมบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เลขที่ 164/402 หมู่ที่ 1 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่พิพาทเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่า ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 มกราคม 2545 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับนางหรือนางสาวระเบียบ ต่อศาลแรงงานกลางเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงาน ค้ำประกันและรับสภาพหนี้ เรียกเงินจำนวน 713,734.66 บาท วันที่ 9 เมษายน 2545 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนชำระหนี้ตามฟ้องดังกล่าวให้แก่โจทก์และศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามยอมและโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำนิติกรรมดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินตามทะเบียนการหย่าเมื่อวันที่ 2 เป็นผู้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ค่าซื้อที่ดินและบ้านที่พิพาทแก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์เพียงผู้เดียวนั้น โจทก์มีนายบุรี ผู้ช่วยผู้จัดการขายของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2544 จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินที่เก็บจากลูกค้าส่งให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือยอมรับว่าได้เอาเงินโจทก์ไปและจะนำที่ดินและบ้านที่พิพาทไปกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางและโจทก์มีนายกำพล ผู้จัดการส่วนขายของโจทก์มาเบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า ต้นปี 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 แยกกันอยู่ โดยจำเลยที่ 1 ออกไปอยู่ที่อื่น ต้นเดือนตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 มาขอเงินจำเลยที่ 2 ก้อนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่มีให้ ในที่สุดตกลงหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ไปเพิ่มวงเงินจำนองที่ดินและบ้านที่พิพาทต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้มา 48,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนซึ่งเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก และบันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินตามทะเบียนการหย่าทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวกระทำเพื่อป้องกันมิให้โจทก์ยึดที่ดินและบ้านที่พิพาทอันเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 รู้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบและไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับการก่อหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ก่อนที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและบันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินตามทะเบียนการหย่าระบุว่า ที่ดินพร้อมบ้านที่พิพาทและทรัพย์สินทุกอย่างในบ้านยกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับไปจดทะเบียนขายที่ดินและบ้านที่พิพาทเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 พนักงานที่ดินกำหนดราคา 200,000 บาท แต่ความจริงไม่ได้มีการชำระเงินกัน แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านที่พิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตและข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการให้โดยเสน่หา มิใช่ซื้อขาย ดังนั้น เมื่อกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา เพียงแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ เป็นผู้รู้ว่าตนเป็นหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนการฉ้อฉลได้ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่งตอนท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้