คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4108/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับผู้ร้องด้วย โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับมรดกและอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้องได้ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่า การจดทะเบียนจำนองไม่มีค่าตอบแทนหรือกระทำไปโดยไม่สุจริต ศาลย่อมมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาจำนองดังกล่าวจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนที่เป็นของโจทก์ด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1207 และเลขที่ 1165 ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะส่วนแล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งปันที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นจำนวนคนละ 1 ใน 30 ส่วน สำหรับวิธีการแบ่งให้ตกลงกันเอง หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ขายโดยประมูลกันเอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1207 เลขที่ดิน 35 เล่ม 13 หน้า 7 ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 1207 เลขที่ดิน 35 เล่ม 13 หน้า 7 ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3393/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 2687/2545 ของศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวโดยวิธีปลอดจำนอง และนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้คนอื่น หากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดหรือสละสิทธิในการบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องรับจำนองไว้จากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ในคดีนี้โดยมิชอบ ทั้งจำเลยที่ได้นำเอาที่ดินส่วนที่เป็นของบิดาโจทก์ไปยกให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินส่วนที่เป็นของบิดาโจทก์และโจทก์ทั้งสาม การจำนองไม่มีผลผูกพันที่ดินในส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมทั้งสาม ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินแปลงพิพาทได้แล้ว ให้ศาลกันเงินในส่วนที่เป็นของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามที่จะได้รับตามคำพิพากษาออกให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามก่อน ส่วนที่เหลือจึงให้ผู้ร้องรับไปก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษา สั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1207 ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างก่อนเจ้าหนี้อื่นและหากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดหรือสละสิทธิในการบังคับคดีก็ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองส่วนที่เป็นของโจกท์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับผู้ร้องด้วย โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับมรดกและอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้องได้ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่า การจดทะเบียนจำนองไม่มีค่าตอบแทนหรือกระทำไปโดยไม่สุจริต ศาลย่อมมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาจำนองดังกล่าวจึงมีผลผูกพันตามกำหมาย ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนที่เป็นของโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห้นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share