คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและฐานพยายามลักทรัพย์ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ให้ลงโทษจำเลย ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 288, 289, 339, 364, 365, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายประสิทธิ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 365 (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 20 ปี ฐานบุกรุก จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุก 10 ปี ฐานบุกรุก คงจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี ริบของกลางข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7), 335 (1) (3) (4) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 ฐานฆ่าผู้อื่นให้ประหารชีวิต ฐานพยายามลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) กึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 25 ปี ฐานพยายามลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 26 ปี เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 27 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่ลดโทษให้หรือไม่ โดยโจทก์ร่วมอ้างว่า จำเลยกระทำต่อผู้ตายอย่างทารุณ และจำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน จึงไม่มีเหตุปรานีลดโทษให้ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทุกฐานความผิดนั้น จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share