คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3840/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การพรากเด็กอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม คือการพรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายจะไม่ได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา เนื่องจากไปทำงานเป็นพนักงานในร้านอาหารสาวสระแก้วที่จังหวัดชุมพรก็ตาม แต่บิดาของผู้เสียหายได้มอบหมายให้ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารสาวสระแก้วเป็นผู้ดูแลผู้เสียหาย การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านของจำเลยและต่อมาได้กระทำชำเราผู้เสียหายจึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว
แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าว ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง ว. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2527 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายออกจากบ้านที่จังหวัดสระแก้วไปทำงานเป็นพนักงานในร้านอาหารสาวสระแก้วที่จังหวัดชุมพร โดยนายวิทได้มอบหมายให้นางไพจิตร์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารสาวสระแก้วเป็นผู้ดูแลผู้เสียหาย ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 จำเลยได้พาผู้เสียหายไปที่บ้านของจำเลย และขณะที่ผู้เสียหายอยู่ที่บ้านของจำเลยระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2541 จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย 2 ครั้ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เนื่องจากจำเลยไม่รู้ว่าผู้เสียหายมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานหรือแม้กระทั่งถามค้านพยานโจทก์ในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด โดยจำเลยเพิ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะรับวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปนี้มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม หรือไม่ เห็นว่า การพรากเด็กอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม คือ การพรากเด็กไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายจะไม่ได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาเนื่องจากไปทำงานเป็นพนักงานในร้านอาหารสาวสระแก้วที่จังหวัดชุมพรก็ตามแต่ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่า บิดาของผู้เสียหายได้มอบหมายให้นางไพจิตร์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารสาวสระแก้วเป็นผู้ดูแลผู้เสียหาย การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านของจำเลยและต่อมาก็ได้กระทำชำเราผู้เสียหาย จึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว และแม้คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้จำเลยได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีแต่เพียงว่า จำเลยไม่ใช่คนร้ายที่กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share