คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4610/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้เกี่ยวเนื่องกันไป การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียว คือ พรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อกระทำชำเราโดยผู้เสียหายยินยอมไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควร ได้พรากเด็กหญิง ช. อายุ 14 ปีเศษ ผู้เสียหาย ไปจากบิดามารดาผู้ปกครองดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย และเมื่อระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิง ช. ผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยจำนวนหลายครั้งโดยผู้เสียหายยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีให้ลงโทษจำคุก 4 ปี และฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี รวมให้ลงโทษจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยกับการกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นการกระทำกรรมเดียวคือการพรากผู้เสียหายไปเพื่อกระทำชำเราโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น เห็นว่า เป็นความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้เกี่ยวเนื่องกันไป การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวคือพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อกระทำชำเราโดยผู้เสียหายยินยอมดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละฐานดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share