คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10200/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว กฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องและมีเหตุตามกฎหมายให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องว่าได้ทำสัญญารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายลูกหนี้มาจากธนาคาร ก. เจ้าหนี้เดิม แต่ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ผู้ร้องไม่มีสัญญาที่ทำระหว่างผู้ร้องกับเจ้าหนี้เดิมมาสนับสนุน มีเพียงคำเบิกความของพยานผู้ร้องปาก ว. กล่าวถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน สำเนาสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง สำเนาบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับจำนอง และสำเนาคำขอโอนซึ่งหากเป็นเอกสารที่ทำการจดทะเบียนตามกฎหมาย เป็นเอกสารมหาชนที่สามารถตรวจสอบได้ถึงความมีอยู่จริง ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าพนักงานที่ดินรับรองความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนนำเสนอเป็นพยานหลักฐานต่อศาล แต่ผู้ร้องกลับใช้ตรายางประทับรับรองสำเนาเอกสารอ้างเป็นพยานหลักฐานโดยไม่นำต้นฉบับเอกสารมาแสดง ที่ผู้ร้องอ้างว่าการใช้ตรายางประทับรับรองสำเนาเอกสารแทนการลงลายมือชื่อของผู้อำนวยการฝ่ายงานคดี มิใช่เป็นเรื่องที่ใครหรือผู้ใดจะมาใช้ตรายางประทับก็ได้ การประทับตราดังกล่าวต้องกระทำโดยได้รับความยินยอมจากผู้ร้องจึงสามารถกระทำได้ และได้กระทำมาเป็นปกติในคดีอื่นด้วยเช่นกันนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่พอฟังว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่
ลูกหนี้ไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า เอกสารประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้รายนี้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสำเนาเอกสารที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับรองสำเนาถูกต้องและตราประทับรับรองสำเนาถูกต้องที่ประทับอยู่ในเอกสารดังกล่าว เป็นตรายางที่รวมถึงลายมือชื่อของผู้อำนวยการฝ่ายงานคดีอยู่ในตรายางนั้นด้วย โดยผู้อำนวยการฝ่ายงานคดีมิได้ลงลายมือชื่อรับรองด้วยตนเอง ซึ่งตรายางดังกล่าวผู้ใดจะนำมาประทับก็ได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องอ้าง พยานหลักฐานเท่าที่ผู้ร้องนำสืบมาไม่อาจรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระอยู่ตามจำนวนที่ผู้ร้องอ้างจริง มีคำสั่งยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องข้อแรกมีว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องหรือไม่ โดยผู้ร้องอุทธรณ์ว่าตามสำเนาสัญญาจำนอง และสำเนาสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ประกอบกับสำเนาบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับจำนอง และสำเนาคำขอโอนตามมาตรา 76 เป็นเอกสารที่แสดงได้ชัดแจ้งปราศจากข้อโต้แย้งแล้วว่า ภาระหนี้ของลูกหนี้ได้โอนมายังผู้ร้องและผู้ร้องได้บังคับหลักประกันขายทอดตลาดตามกฎหมาย ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่กระทำการจดทะเบียนตามกฎหมาย และเป็นเอกสารมหาชนที่สามารถ ตรวจสอบได้ถึงความมีอยู่จริง และการใช้ตราประทับรับรองเอกสารแทนการลงลายมือชื่อของผู้อำนวยการฝ่ายงานคดีนั้นก็ใช้ได้ มิใช่เป็นเรื่องที่ใครหรือผู้ใดจะมาใช้ตราประทับก็ได้ ซึ่งการประทับตราดังกล่าวต้องกระทำการโดยได้รับความยินยอมจากผู้ร้องจึงจะสามารถกระทำได้ และได้กระทำมาเป็นปกติในคดีอื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเทียบเคียงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม เอกสารดังกล่าวได้กระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และในคดีนี้จำเลยขาดนัดพิจารณาไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง และพยานผู้ร้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยได้ยืนยันเอกสารดังกล่าวไว้ จึงรับฟังเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คงฟังได้ว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องจริง เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว กฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องและมีเหตุตามกฎหมายให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องว่าได้ทำสัญญารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายลูกหนี้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 แต่ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางผู้ร้องไม่มีสัญญาที่ทำระหว่างผู้ร้องกับเจ้าหนี้เดิมมาสนับสนุน มีเพียงคำเบิกความของพยานผู้ร้องปากนายวุฒิชัย กล่าวถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน สำเนาสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง สำเนาบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับจำนอง และสำเนาคำขอโอนตามมาตรา 76 ซึ่งหากเป็นเอกสารที่ทำการจดทะเบียนตามกฎหมาย เป็นเอกสารมหาชนที่สามารถตรวจสอบได้ถึงความมีอยู่จริงดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าพนักงานที่ดินรับรองความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนนำเสนอ เป็นพยานหลักฐานต่อศาล แต่ผู้ร้องกลับใช้ตรายางประทับรับรองสำเนาเอกสารอ้างเป็นพยานหลักฐานโดยไม่นำต้นฉบับเอกสารมาแสดง ที่ผู้ร้องอ้างในอุทธรณ์ว่าการใช้ตรายางประทับรับรองสำเนาเอกสารแทนการลงลายมือชื่อของผู้อำนวยการฝ่ายงานคดีมิใช่เป็นเรื่องที่ใครหรือผู้ใดจะมาใช้ตรายางประทับก็ได้ การประทับตราดังกล่าวต้องกระทำโดยได้รับความยินยอมจากผู้ร้องจึงสามารถกระทำได้ และได้กระทำมาเป็นปกติในคดีอื่นด้วยเช่นกันนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุน พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่พอฟังว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้อง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องเนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share