คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 39 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้นนอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดและย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้วผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินไปขณะกระทำผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ผู้ร้องให้จำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางไป ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย นอกจากนี้ผู้ร้องให้การในชั้นสอบสวนว่า ผู้ร้องไม่รู้ว่าจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเพราะผู้ร้องไปค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางบรรทุกยางพาราแตกต่างจากที่ผู้ร้องและจำเลยเบิกความว่าจำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางจากผู้ร้องเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักรับฟัง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก และริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บบ 9273 นครศรีธรรมราช ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บบ 9273 นครศรีธรรมราช ของกลางจากบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ระหว่างเช่าซื้อเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้ ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ครั้นวันที่ 26 มิถุนายน 2550 บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ริบได้นั้น นอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวและย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิดด้วย ทั้งการขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา นอกจากผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใดด้วยในการกระทำความผิดแล้ว ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบว่าเจ้าของทรัพย์สินในขณะกระทำผิดไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด คดีนี้ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ผู้ร้องให้จำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางไป ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะที่จำเลยกระทำความผิดรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางในขณะกระทำความผิดไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย นอกจากนี้ผู้ร้องให้การชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ว่า ผู้ร้องไม่รู้ว่าจำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิดเพราะผู้ร้องไปค้าขายที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางบรรทุกยางพาราในสวนออกไปขายและบรรทุกของเข้าสวนยางพารา แตกต่างจากที่ผู้ร้องและจำเลยเบิกความว่าจำเลยเช่ารถยนต์กระบะของกลางจากผู้ร้อง เป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักรับฟังจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง

Share