คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยตกลงขายที่ดินให้โจทก์นำไปจัดสรรขาย โดยอนุญาตให้โจทก์เข้าไปดำเนินการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย และขายที่ดินที่แบ่งแยกได้เพื่อนำเงินมาชำระราคาที่ดินให้จำเลย เมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยจะไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ดังนี้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนสัญญาจะซื้อจะขาย.
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นกันจัดสรรที่ดินขายโดยโจทก์ลงทุนปรับปรุงที่ดิน จำเลยลงทุนเป็นที่ดิน จำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปคืน ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินเสร็จเด็ดขาดและเป็นโมฆะ ให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินที่โจทก์ชำระไปแล้ว เป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง.
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 นิติกรรมอันเป็นโมฆะที่คู่กรณีกลับคืนยังฐานะเดิมจะต้องเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะแล้วมีการบอกล้าง มิใช่นิติกรรมที่เป็นโมฆะมาแต่แรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินโฉนดเลขที่ 1878 โดยให้โจทก์เป็นผู้จัดการและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่ดินแบ่งเงินที่ขายที่ดินได้ให้จำเลยตารางวาละ 500 บาท ส่วนที่ขายได้เกินตารางวาละ 500 บาทให้เป็นของโจทก์ นอกจากนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงยกที่ดินซึ่งเป็นถนนซอยภายในที่ดินจัดสรรและถนนที่เชื่อมกับถนนใหญ่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลเมืองระนอง และจำเลยต้องไถ่ถอนที่ดินโฉนดที่ 1878 ให้แล้วเสร็จก่อนประกาศขายที่ดิน โจทก์ได้เข้าดำเนินการปรับปรุงที่ดินเกือบจะแล้วเสร็จ จำเลยผิดสัญญาโดยไม่ยอมยกที่ดินส่วนที่ตัดเป็นถนนให้เป็นตามสิทธิของเทศบาลเมืองระนอง และไม่ได้ถอนที่ดิน ทำให้โจทก์ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไป จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไประหว่างเข้าหุ้น 213,215 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเข้าหุ้นส่วนกับโจทก์ แต่โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1878 จากจำเลย แล้วโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาฝ่ายเดียวเพราะไม่ชำระค่าที่ดินตามงวดที่ตกลงกัน และบอกเลิกสัญญาเพราะไม่สามารถดำเนินการจัดสรรที่ดินต่อไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 213,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธณณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยตกลงจะขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปจัดสรรขายและอนุญาตให้โจทก์เข้าไปดำเนินการจัดสรรเมื่อชำระค่าที่ดินงวดแรกแล้วและอนุญาตให้โจทก์ขายที่ดินที่จัดแบ่งเป็นแปลงย่อยได้ เพื่อนำเงินมาชำระค่าที่ดินให้จำเลย จำเลยจะทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์เมื่อชำระค่าที่ดินครบถ้วนตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เงิน 231,870บาท ที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสรรที่ดินนั้น ฟังได้ว่าโจทก์จ่ายให้ผู้อื่นเป็นค่าจ้างไถปรับที่ดิน วางท่อระบายน้ำและเขียนแบบแปลนและแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดินที่จัดสรรเป็นเงิน 131,870บาท เท่านั้น ส่วนอีก 100,000 บาท เป็นค่าที่ดินที่จำเลยชำระให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เมื่อนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว โจทก์จะเรียกเอาค่าใช้จ่ายในการที่ตนนำที่ดินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาไปจัดสรรขายจากจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินหาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดิน 100,000 บาท แก่โจทก์โดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการซื้อขายที่ดินเสร็จเด็ดขาดและเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือทั้งสองฝ่ายต้องคืนสู่สถานะ (ฐานะ) เดิม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะนอกจากจะเป็นการพิพากษานอกไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว ยังเห็นว่านิติกรรมที่เป็นโมฆะมาแต่แรกดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ กฎหมายหาได้บัญญัติถึงการให้คู่กรณีกลับคืนยังฐานะเดิมไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 นิติกรรมอันเป็นโมฆะที่คู่กรณีกลับคืนยังฐานะเดิมจะต้องเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะแล้วมีการบอกล้าง แต่จำเลยมิได้ฎีกาขึ้นมากลับแก้ฎีกาขอให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรที่จะพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้จำเลยคืนค่าที่ดินให้โจทก์”
พิพากษายืน

Share