แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 42 และมาตรา 44 แห่ง ป.วิ.พ. ดังนั้น การขายทอดตลาดจึงดำเนินการไปได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกทายาทของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนเสียก่อน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16216 และ 22983 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้ในราคา 5,700,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การปิดประกาศไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาที่ต่ำเกินสมควร ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งในวรรคสี่ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามวรรคสองให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ของบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง หากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสองแล้ว คำสั่งใดๆ ของศาลที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ในบทบัญญัติวรรคสี่ทั้งสิ้น การที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสองและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกาในเรื่องดังกล่าวต่อมาอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ผู้ร้องฎีกาข้อต่อไปว่า คดีนี้จำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการขายทอดตลาด โจทก์มิได้ดำเนินการเรียกทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดชอบย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 42 และมาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น การขายทอดตลาดจึงดำเนินการไปได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกทายาทของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนเสียก่อนแต่อย่างใด ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาข้อสุดท้ายว่า ประกาศขายทอดตลาดระบุภูมิลำเนาของผู้ร้องเพียงบ้านเลขที่ 104/7 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมิได้ระบุซอยหรือถนน การระบุเพียงตำบลจึงกว้างเกินไป การปิดประกาศขายทอดตลาดจึงไม่ชอบ เห็นว่า ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องระบุว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 104/7 หมู่ที่ 1 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตามฎีกาของผู้ร้องก็รับว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว ดังนั้น ที่ผู้ร้องฎีกาว่าประกาศขายทอดตลาดมิได้ระบุซอยหรือถนนไว้ด้วย จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์