คำวินิจฉัยที่ 2/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๙

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดไชยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองกลางรับโอนเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๗/๒๕๔๔ ระหว่าง นายเสนีย์ หรือเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ ผู้ฟ้องคดีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดี ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒และสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. ๓ก.)เลขที่ ๑๙๘๒ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีโดยมีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยทุจริตไม่นำเอาที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองทั้งหมดเข้าไปอยู่ในรูปแผนที่ ทำให้รูปแผนที่ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและได้มีการสร้างรูปถนนสาธารณประโยชน์ขึ้นในที่ดินดังกล่าว โดยคลาดเคลื่อนด้วย และเมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็พยายามสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จปลอมเอกสารการสอบสวนสิทธิที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีและเอกสารอื่น ๆ แล้วทำการแยกการออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒เป็น๓แปลง ลบคูน้ำสาธารณประโยชน์ออกจากแผนที่ที่ดิน ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมรับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและขอให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ยอมดำเนินการ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
๑. ให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่๑๙๘๒ ซึ่งออกโดยไม่ชอบเพื่อสั่งแก้ไขหรือเพิกถอนและลงโทษผู้กระทำผิด พร้อมทั้งเร่งรัดให้ออกโฉนดที่ดินส่วนที่เหลือโดยเร็ว
๒. ให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่๙๔๑ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อสั่งเพิกถอนและลงโทษผู้กระทำผิด
๓. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีพฤติการณ์กระทำผิด
๔. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่สังกัดกรมการปกครองที่มีพฤติการณ์กระทำผิด
๕. ให้ผู้ฟ้องคดีสามารถล้อมรั้วในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีเพื่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน
๖. ให้ผู้ฟ้องคดีใช้เอกสารสิทธิเดิมในการเป็นหลักฐานการขออนุญาตดำเนินกิจการต่าง ๆ ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
๗. ให้ผู้ฟ้องคดีสามารถก่อสร้างสะพานไม้ชั่วคราวเพื่อเดินข้ามคลองชลประทาน
๘. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่๔๕๘ ให้แก่นางวัลลี ไชยจันทร์ และพวก
๙. ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาถอดถอนนายสำเนา พัฒนุ่น และนายประภาส ช่วยยิ้ม กรรมการสภาตำบลเลม็ด ออกจากตำแหน่ง
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นคำฟ้องที่มีรายการไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรายใดในการกระทำหรือข้อหาใด และได้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขคำฟ้องและให้มายื่นคำฟ้องใหม่แล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้ดำเนินการยื่นฟ้องใหม่ ต่อมาผู้ฟ้องคดีขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือให้ฟ้องคดีใหม่ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่หรือฟ้องคดีใหม่โดยเห็นว่าหากผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะในประเด็นการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีนำ น.ส. ๓ จำนวน ๑๑ แปลง มาเป็นหลักฐานในการยื่นคำขอรวม น.ส. ๓และเปลี่ยนเป็น น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว การรังวัดไม่ผิดแปลงและไม่รุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่น ทั้งผู้ฟ้องคดีก็ได้ลงลายมือชื่อท้ายบันทึกการสอบสวน และเจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองเขตที่ดินที่รังวัดว่าถูกต้อง ต่อมานายอำเภอไชยาประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านแต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้านจึงได้มีการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนกรณีการออกโฉนดนั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้นำเดินสำรวจ แต่เหตุที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินบางแปลงได้เป็นเพราะเหตุขัดข้องทั้งในส่วนของผู้ฟ้องคดีเองและในส่วนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบข้อบกพร่อง โดยที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๘๙๑ และ๙๔๐ มีการนำเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดเป็นเลขที่ดิน ๕๖ และ ๕๗ ตามลำดับให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้มีการแก้ไขแนวเขตของรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในโฉนดให้แตกต่างไปจากหลักฐานการเดินสำรวจ และในส่วนของ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ มีการนำเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินเป็น ๓แปลง คือ แปลงเลขที่ดิน ๒๘, ๔๖ และ ๕๕ ซึ่งแปลงเลขที่ดิน ๒๘ และ ๔๖ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบปฏิบัติโดยแจกโฉนดให้ผู้ฟ้องคดีแล้ว ส่วนแปลงเลขที่ดิน ๕๕ มีรอยขูด ลบ แก้ไขแนวเขตรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในโฉนดที่ดินให้แตกต่างไปจากหลักฐานการเดินสำรวจ ซึ่งเป็นการแก้ไขโดยลายมือของผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ไม่มีการโต้แย้งแนวเขตรูปแผนที่มาก่อน และเมื่อผู้ฟ้องคดีขอให้ช่างรังวัดเพื่อทราบแนวเขตที่แน่นอน ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ยอมนำชี้แนวเขตด้านทิศใต้ทั้งผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีการออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๔๑ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแปลงเลขที่ดิน ๕๖ และ ๕๗ และที่ดินแปลงเลขที่ดิน ๒๙ ทับซ้อนที่ดินแปลงเลขที่ดิน ๕๖ การที่ไม่แจกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นปัญหาที่เกิดจากผู้ฟ้องคดีเอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้มีเจตนาละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดให้แก่ ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดินทั้งหมด ๔๖ แปลง เมื่อได้เริ่มเข้าไปพัฒนาที่ดินดังกล่าวก็เริ่มเกิดปัญหาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐทำแผนที่ระวางที่ดินข้างเคียงให้เกิดปัญหากับที่ดินของผู้ฟ้องคดี มีการสร้างหลักฐานโดยมิชอบทำให้แปลงที่ดินทับซ้อนกันมีการเปลี่ยนที่ตั้งของแปลงที่ดินทำให้เนื้อที่ดินขาดหาย และแนวเขตที่ดินไม่ถูกต้องตามที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง ดังนั้น เมื่อมีการรวม น.ส. ๓ บางแปลงเพื่อเปลี่ยนเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒จึงทำให้ที่ตั้ง รูปแผนที่และ เนื้อที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักฐานเดิมและตามเขตที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่ และเมื่อมีการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยทุจริตสร้างใบไต่สวนเท็จ สร้างแผนที่ไม่ตรงแนวเขต มีการรุกล้ำโดยที่ข้างเคียง ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำขอให้ยกเลิกการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทุกแปลง เพราะให้เจ้าหน้าที่แก้ไขแล้วมิได้ดำเนินการให้ ทั้งได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินไม่ว่าจะเป็น น.ส. ๓ ก. หรือโฉนดที่ดินที่ถูกต้อง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกลับยืนยันมาตลอดว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงแสดงว่ามีการละเลยในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่จะพิจารณาว่า น.ส.๓ก.เลขที่ ๑๙๘๒ ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในที่ดินในขอบเขตเพียงใด จำนวนเนื้อที่เท่าใดก่อน กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีขอออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ และที่นำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินว่ามีขอบเขตเพียงใด เนื้อที่เท่าใด แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวหาในเรื่องแรกว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการออก น.ส. ๓ ก.ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยการออกคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาในเรื่องที่สองว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งการออกโฉนดที่ดินจากการเดินสำรวจอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว ข้อหานี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกันตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒
ศาลจังหวัดไชยาพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา ออก น.ส. ๓ก.เลขที่ ๑๙๘๒ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แปลงที่ดินทับซ้อนกันเนื้อที่ดินขาดหาย แนวเขตไม่ถูกต้อง และละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การโต้แย้งว่า ได้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ โดยชอบแล้ว มิได้รังวัดผิดพลาดรุกล้ำที่ดินบุคคลอื่น สำหรับกรณีที่ยังไม่อาจออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่มีเหตุขัดข้องจากผู้ฟ้องคดีเองและเจ้าหน้าที่ตรวจพบข้อบกพร่องโดยในส่วนของน.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ พบว่ามีรอยขูด ลบ แก้ไขแนวเขตรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในโฉนดที่ดินโดยผู้ฟ้องคดีให้ต่างไปจากหลักฐานการเดินสำรวจ และเมื่อมีการขอให้รังวัดใหม่ผู้ฟ้องคดีกลับมีปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการนำชี้แนวเขตด้านทิศใต้ การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติก่อนว่า สิทธิครอบครองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีเพียงใด น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ มีพื้นที่ทับซ้อนที่ดินแปลงอื่นมีเนื้อที่ขาดหาย และมีแนวเขตถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งสภาพในที่ดินที่แท้จริงเป็นอย่างไร อันจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน น.ส. ๓ ก. แปลงดังกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีโดยทุจริตสร้างใบไต่สวนเท็จ สร้างแผนที่ไม่ตรงแนวเขต รุกล้ำที่ข้างเคียง หรือจะมีปัญหาข้อขัดข้องจากความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีเองโดยแก้ไขเอกสารหลักฐานการเดินสำรวจให้ผิดไปจากความเป็นจริง ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่สองโต้แย้ง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยสิทธิของบุคคลในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ก.) เลขที่๑๙๘๒ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี โดยเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยทุจริตทำแผนที่ระวางที่ดินข้างเคียงให้เกิดปัญหากับที่ดินของผู้ฟ้องคดี สร้างหลักฐานโดยมิชอบทำให้แปลงที่ดินทับซ้อนกัน เปลี่ยนแปลงที่ตั้งของแปลงที่ดินทำให้เนื้อที่ที่ดินขาดหายและแนวเขตที่ดินไม่ถูกต้อง ตามที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง และเมื่อเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยทุจริตสร้างใบไต่สวนเท็จ สร้างแผนที่ไม่ตรงแนวเขต มีการรุกล้ำโดยที่ข้างเคียงผู้ฟ้องคดีไม่ยอมรับการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและขอให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ยอมดำเนินการ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๙๘๒ เพื่อสั่งแก้ไขหรือ เพิกถอนและลงโทษผู้กระทำผิด พร้อมทั้งเร่งรัดให้ออกโฉนดที่ดินส่วนที่เหลือโดยเร็ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ ๒ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กระทำการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ในการออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับพิพาทได้กระทำโดยชอบ และการออกโฉนดก็ได้กระทำโดยชอบแล้วเช่นกัน แต่ที่ล่าช้าเป็นเพราะผู้ฟ้องคดีแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายเสนีย์ หรือเสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ ผู้ฟ้องคดีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
พรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share