แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ ก่อนที่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 35 ยกเลิกความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ (เดิม) และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ตามมาตรา 100 ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้บัญญัติเพิ่มเติมฐานความผิดกรณีที่กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ (เดิม) หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดหรือสนับสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ให้รวมถึงความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษด้วย กฎหมายที่ใช้ในภายหลังจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
มาตรา 100 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติด ฯ (เดิม) เป็นกรณีต้องระวางโทษสามเท่าเฉพาะการกระทำความผิดฐานผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 100 ของกฎหมายเดิมที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าได้
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ มาตรา 10 ซึ่งระวางโทษเป็นสามเท่าในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมาตรานี้ การที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ มาตรา 10 อีกบทหนึ่งให้ถูกต้อง ข้อหาตามมาตราดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 110 เม็ด น้ำหนัก 10.887 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีความผิดต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๖๗ , ๑๐๐ , ๑๐๒ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ , ๔ , ๑๐ ป.อ. มาตรา ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง , ๑๐๐ จำคุก ๒๑ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงลงโทษจำคุก ๑๐ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทและลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ จะได้มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๕ ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๐ แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ตามมาตรา ๑๐๐ ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้บัญญัติเพิ่มเติมฐานความผิดกรณีที่กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ให้รวมถึงความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือได้ว่ากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ซึ่งตามมาตรา ๑๐๐ ของกฎหมายเดิมเป็นกรณีที่ต้องระวางโทษสามเท่าเฉพาะกรณีกระทำความผิดฐานผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา ๑๐๐ ของกฎหมายเดิม ที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ และแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ซึ่งระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องมาตรานี้ การที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ อีกบทหนึ่งให้ถูกต้อง ข้อหาตามมาตราดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษอันเป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๙ ยังยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๖๖ แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย บทความผิดตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ คดีนี้จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑๑๐ เม็ด น้ำหนัก ๑๐.๘๘๗ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีความผิดต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยเพราะเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งไม่ลงโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (เดิม) , ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๓ จำคุก ๗ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.