คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารนำนักทัศนาจรไปเที่ยวและพาเข้าพักที่รีสอร์ท จึงมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวในระหว่างที่พักอยู่ที่รีสอร์ทให้ปลอดภัยด้วย อันเป็นหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 เมาสุราไม่เฝ้ารถยนต์โดยสารเอง แต่กลับให้ ก. พนักงานประจำรถนอนเฝ้ารถยนต์โดยสารแทน ทั้งที่ได้ยิน ก. พูดว่าจะออกไปเที่ยวข้างนอก และยังได้เสียบกุญแจรถไว้ที่สวิตช์ติดเครื่องยนต์ มิได้นำไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ก. ถือโอกาสลักลอบขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวไปเที่ยวข้างนอกและทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ ก. ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกันอันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับ ก. ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษารถยนต์โดยสารอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลให้ปลอดภัยตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมทำละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเป็นผู้ควบคุมดูแลและขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0180 นนทบุรี ซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวนำผู้โดยสารไปทัศนาจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้าง หลังจากที่จำเลยที่ 1 ส่งผู้โดยสารเข้าพักที่รีสอร์ทแล้ว จำเลยที่ 1 ทิ้งรถยนต์โดยสารดังกล่าวไว้เป็นเหตุให้นายโกวิทย์ พนักงานประจำรถ ลักลอบนำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวขับไปด้วยความเร็งสูงและประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้โดยสารถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 90,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 77,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องกำหนดให้ไม่เกิน 22,500 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในส่วนจำเลยที่ 5 ให้รับผิดเพียงเท่าทรัพย์มรดกของนายโกวิทย์หรือวันนาที่ตกทอดได้แก่ตน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นกรมให้สังกัดกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0180 นนทบุรี จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 เป็นมารดาในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายโกวิทย์หรือวันนาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวนำผู้โดยสารไปทัศนาจร อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หลังจากส่งผู้โดยสารเข้าพักที่รีสอร์ทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าพักในห้องพักของรีสอร์ท โดยจอดรถยนต์โดยสารดังกล่าวไว้ที่ลานจอดรถและสั่งให้นายโกวิทย์นอนเฝ้าในรถยนต์โดยสารดังกล่าว ต่อมาในเวลากลางคืนนายโกวิทย์ได้ขโมยรถยนต์โดยสารดังกล่าวขับไปเที่ยวกับเพื่อน เมื่อถึงทางหลวงหมายเลข 323 นายโกวิทย์ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อและใช้ความเร็วจนรถยนต์โดยสารดังกล่าวเสียหลักพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกันอันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 77,500 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารนำนักทัศนาจรไปเที่ยวและพาเข้าพักที่รีสอร์ท จึงมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวในระหว่างที่พักอยู่ที่รีสอร์ทให้ปลอดภัยด้วย อันเป็นหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 เมาสุราไม่เฝ้ารถยนต์โดยสารเอง แต่กลับให้นายโกวิทย์นอนเฝ้ารถยนต์โดยสารแทน ทั้งที่ได้ยินนายโกวิทย์พูดว่าจะออกไปเที่ยวข้างนอก และยังได้เสียบกุญแจรถไว้ที่สวิตซ์ติดเครื่องยนต์ มิได้นำไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายโกวิทย์ถือโอกาสลักลอบขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวไปเที่ยวข้างนอกและทำละเมิดต่อโจทก์ การที่นายโกวิทย์ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกันอันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับนายโกวิทย์ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษารถยนต์โดยสารอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลให้ปลอดภัยตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมทำละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

Share