คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พันตำรวจโท อ. พยานโจทก์ได้ติดตามเฝ้าดูพฤติการณ์ของจำเลยที่2มาโดยตลอดเนื่องจากได้รับแจ้งว่าเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเฮโรอีนให้กับพวกเพื่อนำไปจำหน่ายในต่างประเทศและเห็นจำเลยที่2ติดต่อกับจำเลยที่1อยู่เสมอทั้งก่อนเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่1ถึงที่3ก็อยู่ในห้องที่ตรวจพบเฮโรอีนด้วยกันประกอบกับเมื่อจำเลยที่2และที่1ทราบว่าพันตำรวจโท อ. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามยาเสพติดก็ตกใจพากันวิ่งหนีออกทางระเบียงหลังห้องกระโดดจากชั้น3ลงไปชั้นล่างทันทีโดยยอมเสี่ยงต่ออันตรายเป็นพฤติการณ์ส่อพิรุธของจำเลยที่2รูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่2ได้ร่วมกับพวกมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสำหรับจำเลยที่3นั้นเมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับจากห้องที่เกิดเหตุแล้วถูกนำตัวไปตรวจค้นที่ห้องที่จำเลยที่3เช่าพักก็พบเฮโรอีนของกลางอีก2ถุงถุงหนึ่งอยู่ในแฟ้มหนังซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นอนอีกถุงหนึ่งห่อถุงพลาสติกอยู่ในถุงพลาสติกวางอยู่ในตู้เสื้อผ้าซึ่งได้มีการถ่ายภาพไว้โดยจำเลยที่3ก็ได้ลงชื่อรับรองในภาพถ่ายและบันทึกการตรวจค้นด้วยชั้นสอบสวนก็ให้การรับว่าจำเลยที่1และที่2นำเฮโรอีนที่พบในห้องพักของตนนั้นมาฝากไว้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่3ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่1และที่2ด้วยส่วนจำเลยที่4นั้นคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่อ้างว่าจำเลยที่4มีส่วนร่วมกับพวกกระทำความผิดนั้นยังขัดแย้งแตกต่างกันอีกทั้งพยานพฤติเหตุแวดล้อมก็ยังไม่ชัดแจ้งมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่4ได้ร่วมกับจำเลยที่1ถึงที่3มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่17มีนาคม2533เวลากลางวันถึงวันที่16เมษายน2533เวลากลางคืนหลังเที่ยงติดต่อกันตลอดมาจำเลยที่2ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยที่2ได้มีเครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือมีกำลังส่ง5มิลลิวัตต์จำนวน2เครื่องไม่มีหมายเลขเครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายเหตุเกิดที่แขวง สามเสนในและแขวง ถนนเพชรบุรีเขต พญาไท กรุงเทพมหานครเกี่ยวพันกันและเมื่อวันที่16เมษายน2533เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันมีเฮโรอีนจำนวน7ถุงมีน้ำหนักสุทธิ5,843กรัมคำนวณเป็นเฮโรอีนบริสุทธิ์หนัก4,379กรัมและคราบเฮโรอีนปริมาณเล็กน้อยไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งห้าเพื่อจำหน่ายเหตุเกิดที่แขวง สามเสนในเขตพญาไทกรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งห้าได้พร้อมด้วยเฮโรอีนที่ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและยึดกระเป๋าเอกสาร6ใบกระดาษทราย1แผ่นกระดาษกาว2ม้วนกาวใส3หลอดกาวชนิดข้น1กระปุกซองบุหรี่เปล่า28ซองถุงพลาสติก1ห่อหลอดกาวตราช้าง6หลอดใบมีดตัดกระดาษ1กล่องกระเป๋าใส่เครื่องมือช่างซึ่งมีค้อนและใบเลื่อยที่มีคราบเฮโรอีนติดอยู่รวมอยู่ด้วยจำนวน1ชุดกล่องบุหรี่เปล่า5กล่องกล่องสกอตเทป1ม้วนใบเลื่อย4ใบถุงพลาสติกซึ่งมีคราบเฮโรอีนอยู่1ใบซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยทั้งห้าใช้กระทำความผิดเป็นของกลางและเจ้าพนักงานยังยึดได้เครื่องวิทยุคมนาคมจำนวน2เครื่องที่จำเลยที่2มีไว้ในครอบครองดังกล่าวเป็นของกลางด้วยชั้นสอบสวนจำเลยที่1ให้การรับสารภาพส่วนจำเลยที่2ถึงที่5ให้การปฏิเสธขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา4,7,8,15,66,102พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ.2498มาตรา4,6,22,23,29ประมวลกฎหมายอาญามาตรา33,83,91ริบเฮโรอีนและเครื่องมือเครื่องใช้ของกลางกับริบเครื่องวิทยุคมนาคม2เครื่องของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยที่1ให้การรับสารภาพส่วนจำเลยที่2ถึงที่5ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่1ถึงที่4มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา15วรรคสอง66วรรคสองประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา83ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่และจำเลยที่2มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ.2498มาตรา6,23อีกกระทงหนึ่งให้จำคุก1ปีแต่เมื่อศาลได้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่2แล้วจึงไม่นำโทษจำคุกมารวมอีกคงให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่2สถานเดียวจำเลยที่1ให้การรับสารภาพตลอดมาและจำเลยที่3ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นการให้ความรู้แก่ศาลและเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา78ลดโทษให้จำเลยที่1กึ่งหนึ่งและลดโทษจำเลยที่3หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา52คงจำคุกจำเลยที่1มีกำหนด50ปีและจำคุกจำเลยที่3ตลอดชีวิตยกฟ้องจำเลยที่5เฮโรอีนเครื่องมือเครื่องใช้ของกลางให้ริบและริบเครื่องวิทยุคมนาคมจำนวน2เครื่องของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
โจทก์และจำเลยที่1ถึงที่4อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่2ถึงที่4ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย”พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่16เมษายน2533เวลาประมาณ20นาฬิกาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่2ถึงที่4ได้ที่ ศุภราชแมนชั่น พร้อมยึดเฮโรอีนได้จำนวน7ถุงน้ำหนักรวม5,843กรัมคำนวณเป็นเฮโรอีนบริสุทธิ์หนัก4,397กรัมจากห้อง304และห้อง305ที่จำเลยที่1และที่3เช่าพักตามลำดับกับคราบเฮโรอีนที่หัวค้อนใบเลื่อยเศษถุงพลาสติกซึ่งไม่สามารถชั่งหาน้ำหนักได้และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตามฟ้องเป็นของกลางปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีแต่เพียงว่าจำเลยที่2ถึงที่4ได้ร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่สำหรับจำเลยที่2โจทก์มีพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์วัฒนวิบูลย์ เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่9เมษายน2533พยานได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจประสานงานปราบปรามยาเสพติดของประเทศ แคนาดาว่ามีชาว ไนจีเรียผิวดำกลุ่มหนึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษโดยนำเฮโรอีนจากประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศ แคนาดา มีนาย เดลี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเฮโรอีนมอบให้หญิงผิวดำ1คนและหญิงชาว เกาหลีมีครรภ์อีก1คนเป็นมือขนนาย เดลี่พักอยู่ที่โรงแรม รอยัลเลควิลห้อง807พยานจึงได้ตรวจสอบที่โรงแรมดังกล่าวปรากฏว่าผู้ที่พักอยู่ห้อง807คือจำเลยที่2ซึ่งเข้ามาพักเมื่อวันที่16มีนาคม2533พยานจึงเฝ้าติดตามพฤติการณ์ของจำเลยที่2ตลอดมาต่อมาวันที่11เมษายน2533จำเลยที่2ได้ย้ายมาพักที่โรงแรม ประดิพัทธ์ห้อง349จำเลยที่2ได้ติดต่อและไปมาหาสู่กับจำเลยที่1และที่3ซึ่งพักอยู่ที่ ศุภราชแมนชั่น ห้อง303และห้อง305ตามลำดับและจำเลยที่4ซึ่งพักอยู่ที่โรงแรม รอยัลเลควิลอยู่เสมอจนกระทั่งในวันจับกุมจำเลยที่2กับที่4ได้นั่งรถแท็กซี่ไปที่ศุภราชแมนชั้น จำเลยที่4นั่งรออยู่ในรถแท็กซี่ซึ่งจอดอยู่บริเวณที่จอดรถของ ศุภราชแมนชั่น ส่วนจำเลยที่2ขึ้นไปหาจำเลยที่1ที่ห้อง303พยานกับพวกได้ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งจำเลยที่3เปิดประตูห้อง303ออกมาพยานกับพวกก็ได้เข้าไปในห้อง303พบจำเลยที่1และที่2ยืนอยู่ที่ปลายเตียงนอนพยานได้พูดภาษาอังกฤษแสดงตัวต่อจำเลยที่1ถึงที่3ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นห้อง303จำเลยที่1และที่2ตกใจพากันวิ่งหนีออกทางประตูหลังห้องไปออกระเบียงแล้วพากันกระโดดจากชั้น3ลงไปชั้นล่างแต่หลบหนีไม่พ้นถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับตัวได้พร้อมจำเลยที่3และนำจำเลยที่1ถึงที่3มาตรวจค้นห้อง303และห้อง305ที่จำเลยที่1และที่3พักอยู่ตามลำดับผลการตรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางดังกล่าวอยู่ในห้อง303จำนวน5ถุงในห้อง305จำนวน2ถุงเห็นว่าพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์ได้ติดตามเฝ้าดูพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาโดยตลอดได้เห็นจำเลยที่2ติดต่อกับจำเลยที่1อยู่เสมอทั้งก่อนเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมก็ปรากฏว่าจำเลยที่1ถึงที่3อยู่ในห้อง303ด้วยกันและจากการตรวจค้นห้อง303และ305ก็พบเฮโรอีนของกลางรวม7ถุงซึ่งจำนวน5ถุงที่พบในห้อง303บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในช่องว่างระหว่างแผ่นผนังข้างกระเป๋าใส่เอกสารกระเป๋าละ1ถุงประกอบกับเมื่อจำเลยที่2และที่1ทราบว่าพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามยาเสพติดจำเลยที่2และที่1ก็ตกใจได้พากันวิ่งหนีออกทางระเบียงหลังห้องกระโดดจากชั้น3ลงไปชั้นล่างทันทีโดยยอมเสี่ยงต่ออันตรายอันเป็นพฤติการณ์ส่อพิรุธของจำเลยที่2รูปคดีมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่2มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับเฮโรอีนของกลางด้วยนอกจากนี้ยังพบกระดาษแข็งซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกับกระดาษที่รองอยู่ข้างกระเป๋าใส่เอกสารที่ซุกซ่อนเฮโรอีนกระดาษทรายหลอดกาวกาวกระป๋องถุงพลาสติกค้อนและใบเลื่อยในห้อง303พบใบมีดสำหรับตัดกระดาษจำนวน1กล่องและกาวตราช้างจำนวน6หลอดในห้อง305อีกด้วยซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการเลาะแผ่นผนังข้างกระเป๋าใส่เอกสารให้เปิดออกแล้วบรรจุเฮโรอีนของกลางแต่ละถุงลงในช่องว่างระหว่างแผ่นหนังข้างกระเป๋าใส่เอกสารแล้วตบแต่งแผ่นหนังข้างกระเป๋าให้อยู่ในสภาพเดิมได้นาย สุรศักดิ์วิเศษสุจริตกุล เจ้าของร้าน ทรัพย์ทวีก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่2เคยไปซื้อค้อนกระดาษทรายและกาวกระป๋องจากร้าน ทรัพย์ทวี แสดงว่าจำเลยที่2มีส่วนในการจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้เช่นกันอนึ่งยังได้ความจากพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์อีกว่าจากการตรวจค้นห้อง303ได้พบตั๋วเครื่องบินของสายการบิน ซาบินาร์แอร์ไลน์ของจำเลยที่1และที่2ตามเอกสารหมายจ.16และจ.17ตามลำดับมีกำหนดเดินทางจากกรุงเทพมหานครไป บรัสเซลส์ และต่อไป ลากอส ประเทศ ไนจีเรียโดยเที่ยวบินเดียวกันและในการตรวจค้นโรงแรม ประดิพัทธ์ ห้อง349ที่จำเลยที่2เช่าพักยังพบกระดาษแข็งมีรอยฉีกซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกับที่พบในห้อง303ของจำเลยที่1และที่รองอยู่ในกระเป๋าที่ซุกซ่อนเฮโรอีนทั้งพบเศษกระดาษที่ถูกฉีกเป็นชิ้นๆทิ้งอยู่ในถังขยะในห้องพักเมื่อนำมาต่อกันแล้วปรากฏตามเอกสารหมายจ.43อ่านได้เป็นตัวเลขระบุน้ำหนักเป็นกรัมจำนวนเงินซึ่งน่าจะเป็นการคำนวณราคายาเสพติดให้โทษพยานพฤติเหตณ์แวดล้อมเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นที่จำเลยที่2นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฮโรอีนของกลางจำเลยที่2เข้ามาประเทศไทยเพื่อซื้ออะไหล่เครื่องคอมพิวเตอร์โดยมีนาย ริชาร์ดคนขับรถของโรงแรม รอยัลเลควิล และนาง พานีพนักงานโรงแรมดังกล่าวเป็นคนนำไปสำรวจตลาดและหาซื้ออะไหล่เครื่องคอมพิวเตอร์หลายครั้งจำเลยที่2เพิ่งรู้จักกับจำเลยที่1ในวันเกิดเหตุและจะไปรับจำเลยที่1ไปรับประทานอาหารนั้นเห็นว่าจำเลยที่2เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่16มีนาคม2533จนกระทั่งถึงวันถูกจับเป็นเวลานานประมาณ1เดือนแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่2ได้ซื้ออะไหล่เครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใดทั้งนาย ริชาร์ดและนาง พานีก็มิได้มาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวพยานจำเลยที่2คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่2ลอยๆมีน้ำหนักน้อยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ข้อเท็จจริงตามรูปเรื่องและพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่2ได้ร่วมกับจำเลยที่1และที่3มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่2มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่2ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่3เห็นว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับเมื่อออกมาจากห้อง303ที่จำเลยที่1พักอยู่เมื่อนำตัวไปตรวจค้นที่ห้อง305ที่จำเลยที่3เช่าพักก็พบเฮโรอีนของกลางอีก2ถุงถุงหนึ่งอยู่ในแฟ้มหนังสีดำซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นอนอีกถุงหนึ่งห่อถุงพลาสติกอยู่ในถุงพลาสติกสีเหลืองมีตัวอักษร อัมสเตอร์ดัมชอบปิง เซ็นเตอร์ วางอยู่ในตู้เสื้อผ้าตามภาพถ่ายหมายจ.7จำเลยที่3ก็ได้ลงชื่อรับรองในภาพถ่ายหมายจ.7และบันทึกการตรวจค้นเอกสารหมายจ.8ด้วยชั้นสอบสวนจำเลยที่3ก็ให้การรับว่าเฮโรอีนของกลางที่พบในห้อง305นั้นจำเลยที่1และที่2นำมาฝากจำเลยที่3ไว้นอกจากนี้ยังค้นพบกาวตราช้างจำนวน6หลอดและใบมีดสำหรับตัดกระดาษอีก1กล่องด้วยจึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่3ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่1และที่2เกี่ยวกับเฮโรอีนของกลางดังกล่าวที่จำเลยที่3นำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องจำเลยที่3แล้วไม่พบอะไรนั้นไม่อาจรับฟังว่าเป็นความจริงได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่3ได้ร่วมกับจำเลยที่1และที่2มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่3มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่3ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่4โจทก์มีนาย วลัดดิเนียร์ดอร์เฮเกอร์เจ้าพนักงานตำรวจ เมืองวินเซอร์ ซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศ แคนาดาเป็นพยานเบิกความว่าพยานได้ดักฟังการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่างนาย เคเคอดัมส์ นักค้ายาเสพติดให้โทษกับจำเลยที่4ที่ประเทศ แคนาดาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมืองวินเซอร์ ประเทศ แคนาดาแล้วได้ความว่านาย เคเคอดัมส์กับจำเลยที่4ได้ปรึกษากันเรื่องการเดินทางของจำเลยที่4โดยจำเลยที่4ได้แจ้งว่าจะเดินทางผ่านไปทางเมือง แวนคูเวอร์หรือจะไปทาง เมืองโตรอนโต นาย เคเคอดัมส์ แจ้งให้จำเลยที่4ระวังตัวจำเลยที่4ว่าได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้วครั้นวันที่13เมษายน2533พยานก็เดินทางมากรุงเทพมหานครและได้ประสายงานกับเจ้าพนักงานตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดกองบัญชาการตำรวจนครบาลทำการสืบหาข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของนักค้ายาเสพติดให้โทษพยานได้พักที่โรงแรม ประดิพัทธ์ห้อง348ครั้นวันที่16เมษายน2533เวลา0.48นาฬิกาพยานเห็นจำเลยที่4มาพบจำเลยที่2ที่ห้อง349ห้อง348กับห้อง349อยู่ติดกันมีประตูกลางเปิดทะลุถึงกันได้พยานได้นอนใช้หูแนบกับพื้นตรงประตูระหว่างห้อง348กับห้อง349ได้ยินจำเลยที่2ถามจำเลยที่4ว่ากระเป๋าเรียบร้อยหรือไม่จำเลยที่4พูดว่ากระเป๋าใบสีขาวไม่มีปัญหาแต่กระเป๋าใบสีดำต้องซ่อมแซมเพราะเส้นด้ายขาดและเห็นกาวด้านข้างกระเป๋าพันตำรวจตรี ชาตรีไพศาลศิลป์ เบิกความว่าเมื่อวันที่7เมษายน2533พยานได้ตรวจสอบที่โรงแรม รอยัลเลควิลพบว่าจำเลยที่4ได้พักกับจำเลยที่2ที่โรงแรมดังกล่าวห้อง807โดยแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ของโรงแรมว่าเป็นสามีภริยากันต่อมาวันที่11เมษายน2533จำเลยที่2ย้ายไปพักที่โรงแรม ประดิพัทธ์ ห้อง349วันที่15เมษายน2533พยานได้ไปเช่าห้องพักที่ ศุภราชแมนชั่นห้อง316ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับห้อง303เพื่อคอยสังเกตการณ์ห้อง303และห้อง305ครั้นเวลาประมาณ24นาฬิกาพยานเห็นจำเลยที่4และที่5พากันเข้าไปในห้อง303และอยู่ในห้อง303ประมาณครึ่งชั่วโมงก็พากันกลับไปพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์เบิกความว่าวันที่13เมษายน2533เห็นจำเลยที่2ที่4และนางสาว โมเรโมไปรับจำเลยที่3ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพวันที่14เมษายน2533เวลาค่ำจำเลยที่4ไปหาจำเลยที่2ที่ห้อง349แล้วพากันไปแลกเงินที่บริเวณถนน สุขุมวิท เมื่อกลับมาที่โรงแรม ประดิพัทธ์จำเลยที่4ก็เปิดห้อง326ให้จำเลยที่5พักเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่4ตามที่นาย ดอร์เฮเกอร์เบิกความก็มีแต่คำเบิกความของนาย ดอร์เฮเกอร์ปากเดียวลอยๆไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนนอกจากนี้หากจำเลยที่4กับจำเลยที่2จะพูดกันถึงเรื่องดังกล่าวก็ไม่น่าจะพูดกันเสียงดังเพราะเป็นเรื่องลับประกอบกับพื้นห้อง348และพื้นห้อง349ต่างก็ปูพรมและภายในห้องเปิดเครื่องปรับอากาศและประตูระหว่างห้องดังกล่าวก็มีถึง2ชั้นแม้ตรงใต้ประตูจะมีช่องว่างก็น่าจะสูงจากพื้นไม่เกินครึ่งนิ้วดังภาพถ่ายประตูระหว่างห้องหมายจ.2ภาพที่2และที่3ซึ่งพื้นที่ปูพรมน่าจะเป็นวัสดุที่ดูดซึมเสียงได้ดีนาย ดอร์เฮเกอร์ไม่น่าจะได้ยินเสียงพูดจากห้อง349เล็ดลอดออกมาได้อนึ่งตามตั๋วเครื่องบินของจำเลยที่4ตามเอกสารหมายจ.18และจ.30ก็ปรากฏว่าจำเลยที่4จะเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปทาง อัมสเตอร์ดัมส์ ประเทศ เนเธอร์แลนด์แล้วต่อไป ลากอส ประเทศ ไนจีเรีย แล้วต่อไป ลอนดอนประเทศอังกฤษแล้วต่อไป นิวยอร์ก ประเทศ สหรัฐอเมริกา หาได้เดินทางไป แวนคูเวอร์หรือ โตรอนโตแต่อย่างใดไม่คำเบิกความของนาย ดอร์เฮเกอร์จึงมีพิรุธและมีเหตุสงสัยส่วนที่โจทก์นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่4ว่าจำเลยที่4เคยพักอยู่ห้องเดียวกันกับจำเลยที่2ที่โรงแรม รอยัลเลควิล ห้อง807โดยแจ้งแก่เจ้าหน้าที่โรงแรมว่าเป็นสามีภริยากันก็มีแต่คำเบิกความของพันตำรวจตรี ชาตรีลอยๆไม่มีเจ้าหน้าที่ของโรงแรม รอยัลเลควิลมาเบิกความยืนยันหรือพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนนอกจากนี้ยังปรากฏจากการตรวจค้นโรงแรม ประดิพัทธ์ ห้อง326ที่จำเลยที่4และที่5พักพบใบเสร็จรับเงินค่าห้องพักและหลักฐานการเข้าพักโรงแรม รอยัลเลควิลห้อง1001ตามเอกสารหมายจ.33อยู่ในกระเป๋าถือของจำเลยที่4ระบุชื่อจำเลยที่5เป็นผู้เข้าพักแต่ระบุว่าพัก2คนจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่4และที่5พักด้วยกันที่ห้อง1001อนึ่งหากจำเลยที่4พักด้วยกันกับจำเลยที่2ที่โรงแรม รอยัลเลควิลห้อง807เมื่อจำเลยที่2ย้ายไปพักที่โรงแรม ประดิพัทธ์ ห้อง349จำเลยที่4ก็น่าจะย้ายตามไปพักกับจำเลยที่2ด้วยจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่4และที่2เคยพักอยู่ห้องเดียวกันที่โรงแรม รอยัลเลควิล ส่วนพฤติการณ์ของจำเลยที่4ในคืนวันที่15เมษายน2533เวลาประมาณ24นาฬิกาจำเลยที่4ไปพบจำเลยที่1ที่ห้อง303 ศุภราชแมนชั่นหรือไม่เห็นว่าประจักษ์พยานโจทก์เกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้คือพันตำรวจตรี ปรีชาซึ่งอ้างว่าได้เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ที่ ศุภราชแมนชั่นในห้อง316จนกระทั่งเวลาประมาณ24นาฬิกาเห็นจำเลยที่4และที่5เข้าไปในห้อง303จำเลยที่4และที่5อยู่ในห้อง303ประมาณ30นาทีก็กลับไปแต่กลับได้ความจากสิบตำรวจตรี ประพันธ์พูนรัตน์ประจักษ์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่าในคืนวันที่15เมษายน2533พันตำรวจตรี ชาตรีเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ที่ ศุภราชแมนชั่นในห้อง316จนกระทั่งเวลาประมาณ22นาฬิกาจำเลยที่2ได้ออกไปจากศุภราชแมนชั่น พันตำรวจตรี ชาตรีจึงได้ติดตามจำเลยที่2ออกไปด้วยก่อนออกไปพันตำรวจตรี ชาตรีได้สั่งให้สิบตำรวจตรี ประพันธ์เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในห้อง316เหตุการณ์ช่วงนี้สิบตำรวจตรี ประพันธ์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่1ถึงที่3ว่าได้เฝ้าสังเกตการณ์อยู่จนกระทั่งเวลาประมาณ2นาฬิกาจึงเห็นจำเลยที่4และที่5ขึ้นมายังห้อง303และมีบุคคลในห้อง303เปิดประตูให้จำเลยที่4และที่5เข้าไปจะเห็นได้ว่าคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่4ในตอนนี้ขัดแย้งแตกต่างกันไม่น่าเชื่อถือส่วนที่จำเลยที่4และที่2ไปที่ท่าอากาศยานกรุงเทพเมื่อวันที่13เมษายน2533ตามภาพถ่ายหมายจ.1จะฟังว่าจำเลยที่4ไปรับจำเลยที่3ก็ยังไม่ชัดแจ้งเพราะได้ความว่านางสาว โมเรโมก็ไปด้วยและนางสาว โมเรโมเป็นคนรับจำเลยที่3พาไปพักที่ ศุภราชแมนชั่น ห้อง305โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่4มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใดและที่จำเลยที่4กับที่2ไปแลกเงินด้วยกันในคืนวันที่14เมษายน2533ก็เป็นเรื่องปกติของชาวต่างประเทศส่วนที่พันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์เบิกความอีกว่าได้ตรวจค้นห้อง303ของจำเลยที่1พบตั๋วเครื่องบินของสายการบิน เคแอลเอ็ม ของจำเลยที่4กำหนดเดินทางจากกรุงเทพมหานครไป อัมสเตอร์ดัมประเทศ เนเธอร์แลนด์แล้วต่อไป ลากอส ประเทศ ไนจีเรีย แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางตามเอกสารหมายจ.18และบัตรผ่านขึ้นเครื่องบินของสายการบิน นอร์ธเวส แอร์ไลน์ จาก โตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น มากรุงเทพมหานครของจำเลยที่4ตามเอกสารหมายจ.20และพบหลักฐานการโอนเงินจากคนชื่อ โจอันวิลเลียม จาก นิวยอร์ก ประเทศ สหรัฐอเมริกาถึงจำเลยที่4โดยโอนเงินผ่านธนาคาร สยามคอมเมอร์เชียล จำนวน1,500เหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ลงวันที่10เมษายน2533นั้นหากเป็นจริงดังคำเบิกความก็แสดงว่าจำเลยที่4มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับจำเลยที่1และจำเลยที่1อาจเป็นผู้ออกค่าโดยสารเครื่องบินหรือส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่4แต่สิบตำรวจเอก จรูญจำปางาม พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งร่วมตรวจค้นด้วยเบิกความว่าการตรวจค้นห้อง303ไม่พบพยานหลักฐานเกี่ยวพันถึงตัวจำเลยที่4คำเบิกความของพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์กับคำเบิกความของสิบตำรวจเอก จรูญในส่วนนี้จึงขัดแย้งแตกต่างกันนอกจากนี้ในบันทึกการตรวจค้นเอกสารหมายจ.6ก็ไม่ปรากฏว่าได้ตรวจค้นพบเอกสารดังกล่าวของจำเลยที่4อยู่ในห้อง303ของจำเลยที่1แต่อย่างใดในเอกสารหมายจ.6คงบันทึกไว้ย่อๆในข้อ11แต่เพียงว่าพบเอกสารต่างๆจำนวนมากมายและในวันตรวจค้นดังกล่าวพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์ได้ตรวจค้นโรงแรม ประดิพัทธ์ห้อง326ที่จำเลยที่4พักด้วยพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์ก็ได้ยึดเอกสารต่างๆจำนวนหนึ่งของจำเลยที่4ไปจากห้อง326ซึ่งก็มีทั้งสำเนาตั๋วเครื่องบินของสายการบิน นอร์เวสแอร์ไลน์ ซึ่งจำเลยที่4ใช้เดินทางจาก นิวยอร์กมา โตเกียวและต่อมากรุงเทพมหานครตามเอกสารหมายจ.32บัตรผ่านขึ้นเครื่องบินของสายการบินดังกล่าวจาก นิวยอร์กมา โตเกียว ตามเอกสารหมายจ.30และตั๋วเครื่องบินของสายการบิน บริสติสแอร์เวย์ จาก ลากอสไป ลอนดอน แล้วต่อไป นิวยอร์ก ซึ่งยังมิได้กำหนดวันเดินทางตามเอกสารหมายจ.31รวมอยู่ด้วยสำเนาตั๋วเครื่องบินและบัตรผ่านขึ้นเครื่องบินที่จำเลยที่4ใช้เดินทางจาก นิวยอร์กมา โตเกียวเมื่อวันที่1เมษายน2533และจาก โตเกียวมากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่2เมษายน2533ตามเอกสารหมายจ.32จ.30และจ.20ตามลำดับเป็นชุดเดียวกันน่าจะอยู่กับจำเลยที่4ทั้งหมดไม่มีเหตุที่บัตรผ่านขึ้นเครื่องบินของจำเลยที่4จาก โตเกียวมากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่2เมษายน2533ตามเอกสารหมายจ.20จะไปอยู่ในห้อง303ของจำเลยที่1สำหรับตั๋วเครื่องบินตามเอกสารหมายจ.18และจ.31ก็เป็นอีกชุดหนึ่งสำหรับจำเลยที่4ใช้เดินทางต่อเนื่องกันจากกรุงเทพไป อัมสเตอร์ดัม ไป ลากอส ไป ลอนดอน และไป นิวยอร์กจำเลยที่4ได้ซื้อตั๋วเครื่องบินดังกล่าวไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2533แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางเอกสารหมายจ.18ก็น่าจะอยู่กับจำเลยที่4ด้วยไม่มีเหตุที่จะแยกไปอยู่ในห้อง303สำหรับหลักฐานการโอนเงินตามเอกสารหมายจ.23ก็โอนมาจากนิวยอร์ก ประเทศ สหรัฐอเมริกา จากคนชื่อ โจอันวิลเลียมโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1ซึ่งอยู่ที่ประเทศ ไนจีเรียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอนเงินดังกล่าวให้จำเลยที่4หรือไม่คำเบิกความของพันตำรวจโท อมเรศฤทธิ์ในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือส่วนกระดาษบันทึกข้อความของโรงแรม รอยัลเลควิลตามเอกสารหมายจ.37ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่1มาหาจำเลยที่4ที่โรงแรมดังกล่าวเมื่อเวลา2.25นาฬิกาแต่ไม่พบจึงได้เขียนข้อความให้จำเลยที่4โทรศัพท์กลับไปหาจำเลยที่1นั้นก็ปรากฏว่าในเอกสารดังกล่าวลงวันที่7เมษายน2533ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่1ยังไม่ได้เดินทางเข้าประเทศไทยจำเลยที่1เพิ่งเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่13เมษายน2533เอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังสนับสนุนว่าจำเลยที่4มีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่1และแม้จะพบรูปถ่ายของจำเลยที่2และนามบัตรของ ศุภราชแมนชั่นที่เขียน303ในกระเป๋าถือของจำเลยที่4ก็ยังสงสัยในพฤติการณ์ของจำเลยที่4อยู่สรุปแล้วพยานพฤติเหตุแวดล้อมของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่4ยังไม่ชัดแจ้งยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่4ได้ร่วมกับจำเลยที่1ถึงที่3มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่4ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา227วรรคสองที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่4มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่4ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่4นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share