คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากห้างหุ้นส่วนจำกัด น.ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจำเลยที่ 2 ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด น.ซึ่งต่อมาได้มีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากนั้นห้างจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อรถยนต์และรับชำระหนี้จากโจทก์ โดยตามเอกสารใบแจ้งหนี้ที่หัวกระดาษมีข้อความระบุชื่อห้างจำเลยที่ 1 และได้ระบุชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด น.ในวงเล็บต่อท้ายด้วย ดังนี้ ฟังได้ว่า ห้างจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โจทก์มีอำนาจฟ้องห้างจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด น.ได้
สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยรวม 20 งวด เป็นรายเดือนทุกเดือน ถ้าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวด แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ฝ่ายจำเลยมิได้เจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัวดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยจะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ ในราคาคันละ ๒๘๐,๐๐๐ บาท มีข้อตกลงว่า โจทก์ต้องชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญาคันละ ๘๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือชำระงวดละ ๑๐,๐๐๐ บาทรวม ๒๐ งวด โจทก์ได้ชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามงวดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ตลอดมา ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์เลิกกิจการและโอนกิจการให้แก่ห้างจำเลยที่ ๑ โจทก์ได้นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่จำเลยจนครบถ้วนตามสัญญา และได้บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนรถยนต์ทั้งสองคันให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยโอนรถยนต์ทั้งสองคันให้แก่โจทก์และชำระค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์กับห้างจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลที่แยกกัน โจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท และค้างดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับไม่นำเงินมาชำระค่าภาษีและนำรถทั้งสองคันไปตรวจสภาพ ทั้งโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองรถพิพาทนั้นอยู่ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้แก่โจทก์ภายใน ๑๕ วัน หากไม่ไปจดทะเบียนภายในกำหนด ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ จำนวน ๒ คัน จากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในราคาคันละ ๒๘๐,๐๐๐ บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา ๘๐,๐๐๐ บาท ต่อคัน ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อคัน เป็นเวลา ๒๐ เดือน โดยงวดแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๗ ส่วนงวดสุดท้ายวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ในระหว่างที่โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้ออยู่นั้นจำเลยที่ ๒ ได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ ๑ ขึ้น โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ทุกชนิดเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ แล้วต่อมาวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ได้จดทะเบียนเลิกห้าง
ปัญหาที่จะวินิจฉัยก็คือ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ได้ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นแล้วต่อมาเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดยังค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่อีกหลายงวด จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์ ดังปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.๓ แต่โจทก์ก็ยังไม่ชำระ ครั้งต่อมาเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์อีก ดังปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.๔ ตามใบแจ้งหนี้หรือหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีไปถึงโจทก์นั้น ที่หัวกระดาษได้ระบุข้อความไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ แล้วมีข้อความในวงเล็บต่อท้ายว่า หนองแคสมบูรณ์ เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือทวงถามฉบับที่ ๒ ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.๔ นั้นแล้วโจทก์ได้นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๙ เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท เป็นการชำระหนี้ค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๔ และ ๑๕ ต่อมาวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ก็จดทะเบียนเลิกห้างโดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระบัญชี หลังจากนั้นโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้อีก ๓ ครั้ง รวมเป็นเงิน๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งครั้งแรกเป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๖, ๑๗ และครั้งที่ ๒ เป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๘ แต่การชำระค่าเช่าซื้อครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายนั้นจะเป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๙ และ ๒๐ ด้วยหรือไม่ โจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยในภายหลัง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุจำเลยที่ ๑ ขึ้น แล้วต่อมาห้างจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อไปยังโจทก์ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ซึ่งตามข้อความในหัวกระดาษที่ระบุไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ (หนองแคสมบูรณ์) นั้น ย่อมหมายความเป็นทำนองว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ ๑ กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์เป็นห้างเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๐ ซึ่งทางฝ่ายจำเลยได้ทำบันทึกการรับเงินให้แก่โจทก์ไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๕ นั้น ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.๕ ฉบับนี้ที่หัวกระดาษมีข้อความระบุไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ อันเป็นการแสดงอยู่ว่าห้างจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงิน ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็เบิกความยอมรับอยู่ว่าจำนวนเงินที่โจทก์ชำระตามเอกสารหมาย จ.๕ นี้ (ชำระเป็นเช็ค) ได้นำไปเข้าบัญชีของห้างจำเลยที่ ๑ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ ๑ ขึ้น โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แล้วต่อมาได้มีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นเสียประกอบกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น คดีมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ห้างจำเลยที่ ๑ ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นได้
ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๙ และ ๒๐ นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว มีปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยในการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดเวลาแล้วหรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ว่า หากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยนั้น โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวด เริ่มตั้งแต่งวดที่ ๑ เป็นต้นมา โดยเฉพาะงวดที่ ๑๙ และ ๒๐ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายนั้น โจทก์ผิดนัดเป็นเวลาถึง ๑๕ เดือนเศษกล่าวคืองวดสุดท้ายต้องชำระในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ แต่โจทก์เพิ่งจะนำค่าเช่าซื้องวดที่ ๑๙ และ ๒๐ ไปชำระเมื่อวันที่ ๒๘กันยายน ๒๕๒๐ ซึ่งทางฝ่ายจำเลยได้ออกใบรับให้ตามเอกสารหมาย จ.๕ ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยชำระเป็นเช็คฉบับแรกลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๐ เช็คฉบับที่สองลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๐ สำหรับดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ยังค้างชำระดอกเบี้ยอยู่ตามบัญชีเอกสารหมาย ล.๗ ซึ่งตามบัญชีดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่การผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑ เป็นต้นมาจนถึงงวดที่ ๑๙ และ ๒๐ ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย โจทก์ก็ไม่ได้ชำระให้ แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ทางฝ่ายจำเลยมิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัดแต่ประการใด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยก็จะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยต่อไป
ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ทั้งสองคันไปหาผลประโยชน์ ทำให้ขาดประโยชน์ไปนั้น ได้ความจากคำของโจทก์เองว่า การต่อทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำเงินไปชำระให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ จะดำเนินการต่อทะเบียนให้ แต่สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๕ ที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายนั้น โจทก์มิได้นำเงินค่าภาษี (ค่าต่อทะเบียน) ไปชำระให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งตามพฤติการณ์เป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอากับจำเลย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share