คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจะแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่กรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 71 และปรากฏตามหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจจัดการบริษัทโดยการกระทำให้มีผลผูกพันบริษัท ต้องมีกรรมการสองในห้าคนนี้ลงชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัท และในบรรดากรรมการดังกล่าวมีเพียงจำเลยที่ 4 ที่รู้ข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 4 กลับปกปิดไว้โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้านี้เป็นของตนมาแต่แรก จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการบริษัทร่วมกับจำเลยที่ 4 ไม่รู้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 4 กรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโดยลำพังไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าขาดเจตนาอันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108, 110 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง แต่จำเลยที่ 4 และที่ 6 หลบหนี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ออกหมายจับ และสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 6 ชั่วคราว
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 กระทงหนึ่ง และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกฐานปลอมเครื่องหมายการค้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 400,000 บาท กระทงหลังฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ปรับ 400,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้ปรับจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้า (RELY) ของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีเจตนากระทำผิด แต่โจทก์คงนำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ไปใช้โดยไม่มีสิทธิเท่านั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าในการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมานั้น มีการทำสัญญาร่วมทุนตั้งบริษัทกันระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 4 อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีข้อตกลงตามหนังสือสัญญาร่วมทุนตั้งบริษัท ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า “ในการตกลงดำเนินการตามสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายที่ 2 (จำเลยที่ 4) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารีไล (RELY) จะทำการส่งมอบสินค้าที่มีอยู่ทั้งหมด วัตถุดิบทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ (คือบริษัทจำเลยที่ 1) เมื่อบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ได้ทำการจดทะเบียนและหาสถานที่ในการดำเนินการเสร็จแล้ว พร้อมทั้งจะโอนเครื่องหมายการค้ารีไล (RELY) ให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ใช้”เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 4 ได้แสดงออกต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้เข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัทกับจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และจะนำมาร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมาผลิตสินค้าจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้านี้ ซึ่งแม้โดยข้อเท็จจริงแล้วจำเลยที่ 4 มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนที่โจทก์และจำเลยที่ 4 ร่วมเข้าหุ้นกันจัดตั้งขึ้นมา และโจทก์ก็เบิกความรับว่า โจทก์มิได้เข้าไปดูแลห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาคงมอบหมายให้จำเลยที่ 4 ดูแลบริหารกิจการเพียงผู้เดียว ทั้งโจทก์ยังยอมรับว่าได้อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาโดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และจำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาก็ได้ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์นำออกจำหน่ายตลอดมา ดังนั้น แม้การที่โจทก์อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมังคลาใช้เครื่องหมายการค้าตลอดมานั้นจะมิได้มีการจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ากันไว้โดยชอบดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวก็ย่อมเป็นเหตุทำให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านี้ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ก็เบิกความต้องกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้มาชักชวนให้ร่วมลงทุนตั้งบริษัทผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้า (RELY) ที่จำเลยที่ 4 ดำเนินกิจการอยู่ แต่เนื่องจากขาดเงินทุนประกอบกิจการต่อไปจึงชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ก็เบิกความว่า พยานได้ร่วมเจรจาในการทำข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ร่างสัญญาร่วมทุนตั้งบริษัท พยานได้สอบถามจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 4 ยืนยันว่าเครื่องหมายการค้า (RELY) เป็นของจำเลยที่ 4 ต่อมาเมื่อเกิดเหตุคดีนี้พยานได้สอบถามจำเลยที่ 4 ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จำเลยที่ 4 บอกว่าจะเป็นผู้ไปเจรจากับโจทก์เองนอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อีกว่าหลังจากทราบว่าเครื่องหมายการค้า (RELY) เป็นของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป แต่เปลี่ยนไปใช้เครื่องหมายการค้า WATSAN และ CANWIN แทน เช่นนี้ พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่รู้โดยสุจริตว่า เครื่องหมายการค้า (RELY) ที่จำเลยที่ 4 นำมาร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น แม้ความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จะแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 และปรากฏตามหนังสือรับรองว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ ซึ่งมีอำนาจจัดการบริษัทโดยการกระทำให้มีผลผูกพันบริษัทต้องมีกรรมการสองในห้าคนนี้ลงชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทและในบรรดากรรมการดังกล่าวมีเพียงจำเลยที่ 4 ที่รู้ข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายการค้า (RELY) เป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 4 กลับปกปิดไว้โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้านี้เป็นของตนมาแต่แรกตั้งแต่ที่จำเลยที่ 4 ทำสัญญาร่วมทุนก่อตั้งบริษัทกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ดังกล่าวข้างต้น จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการบริษัทร่วมกับจำเลยที่ 4 ไม่รู้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ผลิตสินค้าใช้เครื่องหมายการค้า (RELY) นั้น ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาร่วมทุนตั้งบริษัท ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้เอง และต่อมาเมื่อทราบว่าเครื่องหมายการค้านี้เป็นของโจทก์จำเลยที่ 1 ก็เปลี่ยนไปใช้เครื่องหมายการค้าอื่นแทน แสดงให้เห็นว่าการที่บริษัทจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า (RELY) ของโจทก์นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเข้าทำสัญญาร่วมทุนกับจำเลยที่ 4 ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้า (RELY) และต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เข้ามาเป็นกรรมการส่วนใหญ่สี่ในห้าคนของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจผิดว่าเครื่องหมายการค้านี้เป็นของจำเลยที่ 4 ตามที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้าง ดังนี้ การที่จำเลยที่ 4 กรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งโดยลำพังไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าขาดเจตนาอันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย แต่ไม่เห็นด้วยที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share