คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ ให้นัดให้จำเลยนำส่งใน 3 วัน แจ้งให้มานำส่งโดยด่วน เป็นการสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ฎีกาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย บัญญัติไว้ จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้ส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย การที่พนักงานเดินหมายส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมาย ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบ และไม่มีผลตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยยังไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น การที่จำเลยมิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันจะถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ศาลชั้นต้นจะถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องฎีกาและให้ส่งสำนวนศาลฎีกาพิจารณาสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งจำเลยนำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาใหม่ แล้วดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 238,084 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 38,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน49,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2542 และยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า “รอสั่งเมื่อมีการรับรองฎีกาหรือไม่หากมีก่อน” และสั่งในคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “จะให้ผู้พิพากษาคนใดรับรองฎีกา ให้ระบุชื่อให้ชัดแจ้งใน 3 วัน” ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องระบุชื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นให้เป็นผู้รับรองฎีกาในข้อเท็จจริง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า “มีการรับรองให้ฎีกา รับฎีกาจำเลยที่ 1 สำเนาให้โจทก์แก้ ให้นัดให้จำเลยที่ 1 นำส่งใน 3 วัน แจ้งให้มานำส่งโดยด่วน” พนักงานเดินหมายนำหมายแจ้งคำสั่งศาลชั้นต้นไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2542 ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2543 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าระยะเวลาได้ล่วงพ้นไปนาน จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนจำเลยที่ 1 (รายงานเจ้าหน้าที่ระบุผิดเป็นโจทก์หรือผู้แทนโจทก์) ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมาย ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องฎีกา จึงส่งสำนวนมาศาลฎีกาพิจารณาสั่ง

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ว่า “มีการรับรองให้ฎีกา รับฎีกาจำเลยที่ 1 สำเนาให้โจทก์แก้ ให้นัดให้จำเลยที่ 1 นำส่งใน 3 วัน แจ้งให้มานำส่งโดยด่วน” เป็นการสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ฎีกาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบ แต่มิได้สั่งให้ส่งหมายแจ้งคำสั่งโดยวิธีปิดหมายการที่พนักงานเดินหมายส่งหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดหมาย ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบ แม้จะปิดหมายครบกำหนดเวลา 15 วัน ก็ไม่มีผลตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันจะถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฟ้องฎีกาและให้ส่งสำนวนมาศาลฎีกาพิจารณาสั่งนั้นไม่ถูกต้อง

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งจำเลยที่ 1 นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาใหม่ แล้วดำเนินการต่อไป

Share