คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะยื่นบัญชีพยานระบุเอกสารหนังสือของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องแจ้งผลการวินิจฉัยโดยฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88, 90 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์หักล้างคำเบิกความของ ว. เจ้าพนักงานที่ดินที่ว่า ต้นฉบับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีข้อความตามหมายเหตุที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่จริงได้โดยง่าย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเอกสารดังกล่าวตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นเพิ่มเติมต่อศาล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้และอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และเห็นสมควรให้รับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งคัดค้านการขายที่ดินพิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามข้อความที่มีหมายเหตุในสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองไปเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ว่า วันที่ญาติของจำเลยที่ 1 ไปขอซื้อที่ดินพิพาทนั้น โจทก์บอกไม่ขายจะเอาไว้ให้บุตร วันรุ่งขึ้นโจทก์นำทะเบียนสมรสไปให้จำเลยที่ 1 ดูและบอกว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์ไม่ขายและวันเดียวกันนั้นโจทก์ไปแจ้งความไว้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี วันที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น โจทก์ไม่ทราบเรื่อง โดยสัญญาดังกล่าวทำที่บ้านที่อยู่อาศัย แต่วันนั้นโจทก์อยู่ที่ร้านโดยโจทก์เปิดร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์รู้เห็นในการขายที่ดินพาท และจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเคยไปที่สถานีตำรวจ 2 ครั้ง โดยไปก่อนวันโอนที่ดินพิพาท 1 ครั้ง และในวันโอนไปอีก 1 ครั้ง เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าโจทก์ไปคัดค้านการขายที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ไปสถานีตำรวจเพราะโจทก์หาว่าจำเลยที่ 1 บุกรุก และได้ความจากโจทก์ว่าได้คัดสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนำไปแจ้งที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกไว้ในตอนท้ายของสารบัญจดทะเบียนของที่ดินพิพาท ว่าถ้าเจ้าของมาขอทำนิติกรรมให้แจ้งคุณวัลภาด้วยที่เบอร์โทร 0-3459-9226 โดยในข้อนี้โจทก์ได้อ้างหนังสือของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ ผผ. 10/2018 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2551 เรื่องแจ้งผลการวินิจฉัยของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่โจทก์ร้องเรียนเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ได้คัดค้านการขายที่ดินพิพาทไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจากข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงข้อความหมายเหตุในสารบัญจดทะเบียนของที่ดินพิพาทตามที่โจทก์แจ้งจริง ดังนี้ แม้โจทก์จะยื่นบัญชีพยานระบุเอกสารดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และ 90 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์หักล้างคำเบิกความของนายวรวุฒิ เจ้าพนักงานที่ดินที่ว่าต้นฉบับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาท ไม่มีข้อความตามหมายเหตุที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่จริงได้โดยง่าย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเอกสารดังกล่าวตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นเพิ่มเติมต่อศาล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้และอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และเห็นสมควรให้รับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งคัดค้านการขายที่ดินพิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามข้อความที่หมายเหตุในสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทจริง แม้ข้อความที่แจ้งจะไม่ถือเป็นการอายัดที่ดินพิพาท และการที่โจทก์ไม่ทวงถามเงินค่าที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์จากจำเลยที่ 2 ก็ไม่เป็นเหตุให้รับฟังว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทได้ ส่วนที่โจทก์พูดว่าหากจะขายที่ดินพิพาทก็จะขายในราคา 800,000 บาท ไม่ใช่ 400,000 บาท นั้น เป็นการบอกราคาเกินจริงเพื่อจะไม่ขาย และที่โจทก์บอกจำเลยที่ 2 ว่าหากจะขายที่ดินพิพาทก็ให้ขายเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 แบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้หย่าตามคำเบิกความของโจทก์ ก็หาใช่เป็นการให้สัตยาบันแก่การขายที่ดินพิพาทไม่ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ว่าวันที่นางสาวบัวหลายพร้อมด้วยจำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 1 และนายพีรชา ไปทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์อยู่ที่บ้านและรู้เห็นด้วย แต่ไม่ได้พูดอะไร นั้น เห็นว่า นางสาวบัวหลาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีส่วนได้เสียในการซื้อขายที่ดินพิพาท ย่อมต้องเบิกความไปในทำนองเดียวกัน ทั้งยังขัดต่อเหตุผลที่โจทก์ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 จะไม่พูดอะไร ทั้งที่จำเลยที่ 1 ได้ขอต่อรองราคา นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความว่า วันที่ไปพบโจทก์ที่สถานีตำรวจ ทราบจากเจ้าพนักงานตำรวจว่า โจทก์ไปคัดค้านการขายที่ดินและหาว่าจำเลยที่ 1 บุกรุก จำเลยที่ 1 จึงควรสอบถามโจทก์ว่า มีสิทธิในที่ดินพิพาทอย่างไร แต่กลับไม่สอบถาม อันเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้จะซื้อที่ดินประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ว่า วันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ไปเจรจาขอซื้อที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ไปหาจำเลยที่ 1 ที่ร้านและแสดงทะเบียนการสมรสกับบอกว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ขาย ทั้งยังได้ความว่าโจทก์พบกับจำเลยที่ 1 เกือบทุกวันโดยต่างค้าขายในตลาดเดียวกัน ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาจำเลยที่ 2 และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส การที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 และจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวโดยไม่ให้โจทก์ได้รับรู้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท

Share