คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพก็เป็นพยานบอกเล่า และจำเลยนำสืบปฏิเสธว่ามิได้เกิดจากความสมัครใจเช่นนี้ คำให้การดังกล่าวโดยลำพังไม่อาจรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง พฤติการณ์ของจำเลยที่ซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาในสภาพที่มีร่องรอยการขูดลบแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี และไม่ได้สมุดคู่มือจดทะเบียน ซึ่งเป็นสภาพที่ผิดปกติจากการซื้อขายรถจักรยานยนต์ทั่วไป จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ซื้อไว้โดยสุจริต และย่อมรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าขณะซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานรับของโจรและชิงทรัพย์ ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์ได้รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วยแล้ว จึงไม่ให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อพิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 265, 268, 339, 340 ตรี, 371 ริบแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ปลอมของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาใช้เอกสารราชการปลอม ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ยังคงให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายเบิกความว่าขณะจำเลยมาว่าจ้างผู้เสียหายที่บริเวณหน้าโรงแรมศรีกุหลาบเป็นเวลา 18.30 นาฬิกา บริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างจากแสงไฟที่เสาไฟสาธารณะ จำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 เมตร สามารถมองเห็นกันอย่างชัดเจน และต่อรองค่าว่าจ้างกันนานประมาณ 20 นาที ผู้เสียหายจึงจำจำเลยได้นั้น แต่นายถวิล พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ผู้เสียหายพบหลังเกิดเหตุทันที เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะผู้เสียหายไปขอความช่วยเหลือในคืนเกิดเหตุ พยานถามผู้เสียหายว่าคนร้ายเป็นยังไง ผู้เสียหายตอบว่าตัวสูง ๆ และจำหน้าคนร้ายไม่ได้ ประกอบกับสิบตำรวจเอกหญิงจิตติมา พยานโจทก์เบิกความว่า พยานสเกตซ์ภาพคนร้าย ตามคำบอกของผู้เสียหายจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เสียหายให้รายละเอียดจนสเกตภาพได้ รูปลักษณะใบหน้าคนร้ายตามภาพสเกตดังกล่าวเป็นรูปมน แต่ใบหน้าจำเลยเป็นรูปเหลี่ยม ซึ่งผู้เสียหายไปให้รายละเอียดเพื่อสเกตภาพคนร้ายหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน แสดงว่าลักษณะใบหน้าคนร้ายที่ผู้เสียหายจำได้แตกต่างจากลักษณะใบหน้าของจำเลย นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกทิพากร พยานโจทก์เบิกความว่า พยานรับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์รับจ้างมีลักษณะน่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง พยานจึงไปยึดรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากจำเลยเพื่อไปตรวจสอบ และถ่ายภาพจำเลยกับถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยไว้ หลังจากตรวจสอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวพบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ของนาวสาวอรทัยที่ให้ผู้เสียหายขับรับจ้างแล้วถูกคนร้ายชิงทรัพย์ไป พยานจึงไปสอบถามนางสาวอรทัยและผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายดูภาพถ่ายของจำเลย และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ แสดงว่าร้อยตำรวจเอกทิพากรให้ผู้เสียหายชี้ภาพถ่ายจำเลย หลังจากที่รู้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ที่ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ไปแล้ว อีกทั้งพันตำรวจโทณรงค์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ ก็จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลย แต่เป็นการชี้ตัวภายหลังจากผู้เสียหายได้ดูภาพคนร้ายในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยแล้ว จึงแสดงว่าการชี้ตัวของผู้เสียหายมีข้อสงสัยว่าเกิดจากการจำคนร้ายได้อย่างแม่นยำแน่นอนเองหรือไม่ กรณีมีเหตุสมควรให้เกิดความสงสัยว่า ผู้เสียหายจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายรายนี้จริงหรือไม่ ส่วนคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า และจำเลยนำสืบปฏิเสธว่ามิได้เกิดจากความสมัครใจเช่นนี้ คำให้การดังกล่าวโดยลำพังย่อมไม่อาจรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ ทั้งจำเลยนำสืบปฏิเสธว่า ไม่ได้ชิงทรัพย์แต่ซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมา ฉะนั้น เมื่อเกิดความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์จริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
อย่างไรก็ตามจากพฤติการณ์ของจำเลยที่ซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาในสภาพที่มีร่องรอยการขูดลบแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีและไม่ได้สมุดคู่มือจดทะเบียน ซึ่งเป็นสภาพที่ผิดปกติจากการซื้อขายรถจักรยานยนต์โดยทั่วไป จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ซื้อไว้โดยสุจริต และย่อมรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่า ขณะซื้อรถจักรยานยนต์จำเลยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอันได้มาโดยการชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรกเท่านั้น ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานรับของโจรและชิงทรัพย์ ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์ได้รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วยแล้ว จึงมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อพิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ยกฟ้องความผิดฐานชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share