คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกมาจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปเข้าร่วมเดินรถกับบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตให้เดินรถประจำทาง ตามระเบียบของกระทรวงคมนาคม บริษัทฯ จะต้องมีรถของตนเอง ถ้าจะนำรถของผู้อื่นมาร่วมจะต้องโอนทะเบียนรถให้เป็นของบริษัทฯ เสียก่อน โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถให้โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำสัญญาซื้อชายไปโอนทะเบียนรถยนต์ให้เป็นของบริษัทฯ การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็เพื่อช่วยเหลือโจทก์ให้นำรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เข้าร่วมในกิจการเดินรถของบริษัทฯ ได้เท่านั้น คู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาซื้อขาย แต่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายเป็นแต่เพียงการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพราง จึงไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เมื่อโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยึดรถกลับคืนได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
เอกสารซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญในคดี แม้จำเลยจะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ ศาลก็มีอำนาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะห้างหุ่นส่วนจำกัดนครปฐมยนตรกาญจน์ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.จ.๐๔๙๓๕ พร้อมอุปกรณ์ติดรถในราคา ๙๖,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยในวันทำสัญญา ๒๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือตกลงชำระกันเป็นงวด งวดละ ๒,๕๐๐ บาท จนกว่าจะครบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๕ โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.จ.๕๑๕๔ พร้อมอุปกรณ์ในราคา ๙๖,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยในวันทำสัญญา ๑๘,๐๐๐ บาท ที่เหลือชำระเป็นงวด งวดละ ๒,๔๐๐ บาท จนกว่าจะครบ โจทก์ได้ชำระค่างวดให้แก่จำเลยโดยไม่ผิดสัญญาตลอดมา จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายบีบบังคับโจทก์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้โจทก์ชำระเงินจำนวนที่ค้างอยู่ทั้งหมดในงวดเดียวผิดจากข้อตกลงในสัญญาซื้อขาย ต่อมาเมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๑๖ จำเลยได้ยึดรถยนต์ทั้งสองคันคืนอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อโจทก์ โดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์ทั้งสองคันให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยพร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๓ มิได้เป็นกรรมการจำเลยที่ ๑ และมิได้กระทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสามไม่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกกับโจทก์ โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันกับจำเลยที่ ๑ แล้วชำระเงินค่าเช่าซื้อรถคันแรกเพียง ๑๗ งวด ตั้งแต่งวดที่ ๑๘ ถึงงวดที่ ๒๙ ผิดสัญญาตลอดมา ส่วนรถยนต์คันที่สองโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๑๓ งวด ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ถึงงวด ๒๒ โจทก์ผิดสัญญาตลอดมา จำเลยที่ ๑ จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถทั้งสองคันกลับคืนมา จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาเช่าซื้อกัน สัญญาซื้อขายเป็นเพียงนิติกรรมอำพราง การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ ๑ สองคัน โดยชำระเงินให้จำเลยที่ ๑ ในวันทำสัญญาบางส่วนที่เหลือผ่อนชำระให้เป็นงวด ๆ งวดละเดือน แต่เนื่องจากโจทก์จะนำรถทั้งสองคันไปเข้าร่วมเดินรถกับบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตให้เดินรถประจำทางตามเส้นทางที่กำหนดซึ่งตามระเบียบของกระทรวงคมนาคม บริษัทจะต้องมีรถของตนเอง ถ้าจะนำรถของผู้อื่นมาร่วมจะต้องโอนทะเบียนรถให้เป็นของบริษัทเสียก่อน โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายรถให้โจทก์ เมื่อโจทก์นำสัญญาซื้อขายไปโอนทะเบียนรถยนต์ให้เป็นของบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด แล้ว บริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด ก็ทำบันทึกตามเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลว่าบริษัทเป็นเจ้าของรถยนต์แต่เพียงทางทะเบียนเท่านั้น กรรมสิทธิ์รถยนต์อันแท้จริงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดราชบุรีจินดาพานิช ที่เป็นเช่นนี้เพราะจำเลยที่ ๑ ซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดราชบุรี จินดาพานิชมาให้โจทก์เช่าซื้ออีกต่อหนึ่ง การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ ก็เพื่อช่วยเหลือโจทก์ให้นำรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยที่ ๑ เข้าร่วมในกิจการเดินรถของบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด ได้เท่านั้น คู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาซื้อขาย แต่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายเป็นแต่เพียงการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพราง จึงไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ เมื่อโจทก์ค้างชำระค่างวด จำเลยที่ ๑ ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยึดรถกลับคืนได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย ล.๑๙ ให้โจทก์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่าเอกสารฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญในคดี แม้จำเลยจะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ ศาลก็มีอำนาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗ (๒)
พิพากษายืน

Share