คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถังน้ำมันขนาด 800,000 ลิตร และ 100,000 ลิตร ก่อสร้างขึ้นติดที่ดินเป็นการถาวรใช้สำหรับเก็บสินค้าน้ำมัน เทียบได้กับอาคารเก็บสินค้าทั่ว ๆ ไป การที่ต้องสร้างเป็นรูปถังกลมก็เนื่องจากสินค้าที่เก็บเป็นของเหลวจำพวกน้ำดังนี้ ถือได้ว่าถังน้ำมันดังกล่าวเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 แล้ว จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนสำหรับถังน้ำมันนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของคลังน้ำมัน จำเลยที่ 3 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโดยรวมเอาถังน้ำมันขนาด 800,000 ลิตร 2 ถัง และ 100,000 ลิตร 9 ถัง เข้าเป็นสิ่งปลูกสร้างให้เสียภาษีด้วย โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ แต่จำเลยที่ 2 คงชี้ขาดตามที่จำเลยที่ 3 ประเมินไว้ซึ่งเป็นการไม่ชอบเพราะถังน้ำมันดังกล่าว มิใช่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดและการประเมินดังกล่าว

จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 3 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ข้างต้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ถังน้ำมันพิพาทขนาด 800,000 ลิตร และขนาด 100,000 ลิตร โจทก์มีไว้ใช้เป็นที่เก็บน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันโซล่า ซึ่งเป็นสินค้าของโจทก์ ถังขนาด 800,000 ลิตร สูงประมาณ 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง9 เมตรเศษ ส่วนถังขนาด 100,000 ลิตร สูงประมาณ 5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง4 เมตรเศษ ถังทั้งสองขนาดปรากฏตามภาพถ่าย ล.1, ล.2 ก่อนก่อสร้างถังพิพาทโจทก์ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารและเสนอแบบก่อสร้างต่อจำเลยเพื่อรับใบอนุญาต การก่อสร้างต้องขุดดินให้ลึกก้นหลุมเทคอนกรีตพื้นหนา 6 นิ้วฟุต แล้วถมทรายจนเต็มหลุม ก้นถังใช้แผ่นเหล็กขนาดกว้าง 6 ฟุต ยาว 12 ฟุต หนา 3 ใน4 นิ้วฟุต เชื่อมติดกัน ผนังตัวถังใช้แผ่นเหล็กเชื่อมต่อกันเป็นถังกลม ถังพิพาทมีขนาดใหญ่โตมั่นคงถาวรอยู่ในลักษณะติดตรึงกับที่ดิน

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 บัญญัติว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป” ตามความในมาตรานี้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ หากใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมแล้วก็มิได้รับยกเว้นภาษี คำว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ” พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 5 บัญญัติว่าให้กินความถึงแพด้วย แต่ก็มิได้ให้คำจำกัดความไว้เป็นพิเศษ ในการวินิจฉัยปัญหาตามข้อฎีกาของโจทก์จึงต้องถือว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ” มีความหมายตามธรรมดาตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ถังน้ำมันพิพาทขนาด 800,000ลิตร และขนาด 100,000 ลิตร ก่อสร้างขึ้นติดที่ดินเป็นการถาวรใช้สำหรับเก็บสินค้าน้ำมัน เทียบได้กับอาคารเก็บสินค้าทั่ว ๆ ไป การที่ต้องสร้างเป็นรูปถังกลมก็เนื่องจากสินค้าที่เก็บเป็นของเหลวจำพวกน้ำ ศาลฎีกาเห็นว่าถังน้ำมันพิพาทเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475 มาตรา 3 แล้ว การเรียกชื่อสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นถังตามรูปร่างลักษณะหรือความเคยชิน หาทำให้สิ่งปลูกสร้างนั้นกลายสภาพมาเป็นถังไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ว่าถังขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างก็เป็นถังน้ำมันเหมือนกัน เมื่อจำเลยไม่ถือว่าถังขนาดเล็กเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ก็ไม่ควรถือว่าถังขนาดใหญ่เป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ข้อนี้ ถังขนาดใหญ่ดังเช่นถังพิพาทและถังขนาดเล็กมีสภาพผิดกันมาก ถังขนาดใหญ่ต้องดำเนินการก่อสร้างขึ้นติดตรึงกับที่ดินเป็นสิ่งปลูกสร้างลักษณะถาวรส่วนถังขนาดเล็กเป็นของขนเคลื่อนจากที่แห่งหนึ่งไปแห่งอื่นได้ ถังขนาดใหญ่และถังขนาดเล็ก จึงหาได้มีลักษณะเป็นถังเหมือนกันดังข้อฎีกาของโจทก์ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนสำหรับถังพิพาทชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share