คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2เป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกกอล์ฟซึ่งจำเลยที่2ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกแบบโครงสร้างได้ออกแบบผิดพลาดมาตั้งแต่แรกและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีสัญญาณบอกเหตุว่าโครงเหล็กบางส่วนล้มลงแม้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสริมเหล็กค้ำยันโครงเหล็กก็กระทำเพียงบางส่วนแต่โครงสร้างยังเหมือนเดิมเมื่อปรากฏว่าพายุฝนในวันเกิดเหตุเป็นพายุฝนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัทล. ได้รับความเสียหายจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา434วรรคหนึ่ง แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยได้ระบุไว้ในช่องหมายเหตุว่าการประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุฯลฯเปียกน้ำฯลฯตามเงื่อนไขแนบท้ายกรมธรรม์ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยพายุที่ทำให้สต็อกสินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายไม่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตามแต่พายุฝนที่เกิดขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่2ล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต๊อกสินค้าของบริษัทล. เปียกน้ำฝนได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่2เจ้าของสิ่งก่อสร้างต้องรับผิดชอบโจทก์ซึ่งรับประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าและประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องจากบริษัทดังกล่าวและกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยให้ความคุ้มครองภัยอันเกิดจากพายุและน้ำฝนจึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากความผิดของจำเลยที่2นั่นเองเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทล. แล้วโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทล. ผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อจำเลยที่2บุคคลภายนอกเพียงนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้จัดให้มีการดำเนินการก่อสร้างสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเลขที่ 10 ซอยอรรถกวี 1ถนนสุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างและติดตั้งเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ้อมกอล์ฟดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อทำการก่อสร้างโดยใช้แบบของการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและใช้วิธีการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องทางเทคนิค ใช้แรงงานที่ขาดคุณสมบัติตลอดจนใช้วัสดุสัมภาระที่บกพร่องหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ระหว่างการก่อสร้างได้เกิดพายุฝนเป็นเหตุให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายที่ก่อสร้างล้มลงมาทับคลังสินค้าของบริษัทหลุย ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหายหลังคาอาคารคลังสินค้าพังถล่มลงมาทำให้สินค้าและทรัพย์สินในคลังสินค้าเปียกน้ำฝน ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 16,289,677 บาทโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่บริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด แล้วจึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 17,000,758.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 16,289,677 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของสนามฝึกซ้อมกอล์ฟตามฟ้อง แต่เป็นเพียงผู้รับจ้างก่อสร้างตัวอาคารที่ทำการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟและฐานรากของใครสร้างเสารั้วเหล็กกันลูกกอล์ฟกับมีหน้าที่ควบคุมประสานงานรับเหมาก่อสร้างโครงเสารั้วเหล็กพร้อมตาข่ายกันลูกกอล์ฟซึ่งจำเลยที่ 3 รับจ้างก่อสร้างจากจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องตามแบบแปลนแผนผังและรายละเอียดประกอบแบบที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเหตุที่เสารั้วเหล็กกันลูกกอล์ฟล้มลงทับอาคารคลังสินค้าได้รับความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากเกิดพายุลมพัดแรงกว่าปกติ เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว และไม่ได้รับช่วงสิทธิจากบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด มาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินความเป็นจริงและไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟในคดีนี้ โดยได้ว่าจ้างให้สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์สูงเป็นผู้ออกแบบและคำนวณโครงสร้าง การกำหนดรายละเอียดการก่อสร้าง การใช้วัสดุสัมภาระตลอดจนเทคนิคต่าง ๆในการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสากลและได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ก่อสร้างแล้ว จำเลยที่ 2 ได้จ้างจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและเป็นผู้ที่มีวิชาชีพเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่ได้รับอนุญาต เหตุที่เสาโครงเหล็กขึงตาข่ายสำหรับฝึกซ้อมกอล์ฟหักโค่นลงนั้นเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเกิดพายุฝนซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของโจทก์เอง เพราะภัยที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยไม่เป็นเงื่อนไขให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองถึงความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับจ้างจำเลยที่ 2ทำการก่อสร้างเสาโครงเหล็กและตาข่ายสำหรับสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ผู้มีวิชาชีพต้องใช้และได้ก่อสร้างตามแบบแปลนและวิธีก่อสร้างอย่างเคร่งครัดรวมทั้งใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานภายใต้การควบคุมการก่อสร้างของวิศวกรของผู้ว่าจ้างอย่างใกล้ชิดและได้ส่งมอบงานที่ทำให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบงานไว้แล้วโดยไม่ทักท้วง เหตุที่เสาโครงเหล็กและตาข่ายล้มลงเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากเกิดพายุฝนอย่างร้ายแรงจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดโจทก์จะรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 รับผิดไม่ได้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,371,528.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 5,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2533ในต้นเงิน 5,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2533 และในต้นเงิน 1,371,528.78 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 711,081.74 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัย ได้รับประกันอัคคีภัยประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องคุ้มครองสต็อกสินค้าในคลังสินค้าเลขที่ 134/18ซอยอรรถกวี 3 ถนนพระราม 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครจากบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับสต็อกสินค้าวงเงิน 30,500,000 บาท มีอายุคุ้มครองตั้งแต่วันที่31 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2533 ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 และกรมธรรม์ประกันภัยความเสียหายต่อเนื่อง เอกสารหมาย จ.4 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2เป็นเจ้าของโครงการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเลขที่ 10 ซอยอรรถกวี 1ถนนสุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองตัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ใกล้กับคลังสินค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 เวลาประมาณ17 นาฬิกา เกิดพายุฝนในกรุงเทพมหานคร ทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายที่ขึงติดกับเสาโครงเหล็กของสนามฝึกซ้อมกอล์ฟล้มลงมาทับคลังสินค้าดังกล่าว เป็นเหตุให้สต็อกสินค้าในคลังสินค้าเปียกน้ำฝนได้รับความเสียหาย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสนามฝึกซ้อมกอล์ฟที่เกิดเหตุหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟแต่ผู้เดียว
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด เป็นผู้ออกแบบเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยนายเยี่ยม วงษ์วานิช พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตทประเทศสหรัฐอเมริกาเบิกความว่า นายทักษะ ตังคฤหัสถ์ วิศวกรของบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรมหาวิทยาลัยและสำเร็จปริญญาโททางวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเอไอที เป็นผู้คำนวณแบบโครงสร้างของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกซ้อมกอล์ฟให้จำเลยที่ 2 ซึ่งตามหลักวิชาวิศวกรรมและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณแรงลมที่ปะทะเสาโครงเหล็กและตาข่ายเป็นการตายตัววิศวกรแต่ละคนต้องคำนวณโดยอาศัยประสบการณ์และความสามารถเฉพาะตัวนายทักษะได้คำนวณแรงลมที่ปะทะตาข่ายโครงเหล็กเพื่อแรงลมร้อยละ 10 ของลมที่มาปะทะโครงเหล็ก ซึ่งพยานเข้าใจว่า นายทักษะคำนวณแรงลมที่ลอดตาข่ายหักอกจากแรงลมทั้งหมดที่ปะทะโครงเหล็ก คงเหลือแรงปะทะที่ค้างคือร้อยละ 10 ดังกล่าว แต่หลังจากที่ได้ทำการก่อสร้างโครงเหล็กและตาข่ายไปแล้วร้อยละ 10 พยานได้ขอให้นายการุณ จันทรางศุ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิศวกรรมศาสตร์คำนวณแล้ว เห็นว่าที่นายทักษะคำนวณเผื่อไว้เพียงร้อยละ 10 ไม่เพียงพอ จึงได้แนะนำให้เสริมเหล็กและเสาเข็มของรั้วโครงเหล็กเพิ่มเติมเผื่อรับแรงลมที่ปะทะเป็นร้อยละ 15 พยานได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.18 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ปรากฏตามหนังสือของจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 2ระบุว่า ได้เพิ่มเติมเหล็กค้ำยันเสารั้วทั้งสิ้น 26 ต้น เท่านั้นทั้งที่ตามแบบแสดงรายการมีเสาเหล็กแบบซี 1 สูง 35 เมตร จำนวน34 ต้น และเสาเหล็กแบบซี 2 สูง 25 เมตร จำนวน 12 ต้น ยิ่งกว่านั้นนายธีรธร สุขกนิษฐ พยานโจทก์ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แขนงโครงสร้างและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เจ.เอส แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด เบิกความว่าพยานพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศได้สำรวจความเสียหายเกี่ยวกับเสาโครงเหล็กและตายข่ายที่เกิดเหตุ พบว่าเสาโครงเหล็กทั้งหมด 46 ต้น หักโค่นลงมาถึง 38 ต้น สาเหตุที่เสาโครงเหล็กและตาข่ายล้มลงเกิดจากการออกแบบผิดพลาดบางส่วน โดยมีจุดสำคัญคือ ประการแรกมิได้คิดคำนวณแรงลมที่ปะทะตัวตาข่าย ประการที่สองไม่ได้หารแรงเค้นวิกฤตด้วยสัมประสิทธิ์ความปลอดภัย (SAFE FACTOR)ซึ่งในกรณีนี้เท่ากับ 1.92 เพื่อจะได้จำกัดแรงเค้นวิกฤตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย รายละเอียดการสำรวจความเสียหายของเสาโครงเหล็กและตาข่ายปรากฏตามรายงานเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.34 ความบกพร่องในการออกแบบโครงสร้างของเสาโครงเหล็กและตาข่ายจำเลยที่ 2 ได้รับทราบจากหนังสือของบริษัทสถาปนิด 110 จำกัด ลงวันที่ 17พฤษภาคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.18 ก่อนเกิดวินาศภัยว่าเสารั้วสนามฝึกซ้อมกอล์ฟบางแห่งล้มเนื่องจากลมพายุ วิศวกรผู้ออกแบบได้คำนวณแรงลมที่ปะทะตาข่ายที่กำหนดไว้เดิมมีกำลังน้อยไปเกรงจะมีปัญหา แม้ต่อมาได้รับการแก้ไขโดยเพิ่มเติมเหล็กค้ำยันตามเอกสารหมาย ล.39 ก็ไม่สมบูรณ์เพราะโครงสร้างเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบงานในแต่ละงวดงานที่มีการส่งมอบ ในวันเกิดวินาศภัย สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารและต้นไม้อื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าได้หักโค่นลงมาเพราะพายุฝนดังกล่าว สำนักงานจำเลยที่ 1 ที่นายไพบูลย์พยานจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตรถูกแรงลมด้วย ก็ไม่ได้รับความเสียหาย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจากคำเบิกความของนายธีรธร พยานโจทก์ที่แสดงค่ามาตรฐานในการคำนวณเผื่อแรงลมที่ปะทะเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานเทศบัญญัติ1.92 เท่า เป็นค่ามาตรฐานแรงลมปะทะวัตถุที่เป็นผิวเรียบเท่านั้นไม่ใช่ค่ามาตรฐานแรงลมที่ปะทะวัตถุที่เป็นพื้นผิวตาข่ายค่ามาตรฐานในการคำนวณเผื่อแรงลมที่ปะทะพื้นผิวที่เป็นตาข่ายย่อมต้องน้อยกว่า 1.92 เท่า เพราะแรงลมที่ปะทะตาข่ายสามารถผ่านช่องตาข่ายไปได้ ย่อมมีค่ามาตรฐานต่ำกว่า 1.92 เท่า มาก กรณีจึงไม่อาจยึดถือค่า 1.92 เท่า เป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าการที่วิศวกรคำนวณแรงลมปะทะตาข่ายไว้ 1.15 เท่า เป็นการคำนวณที่บกพร่องนั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าจองเสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกแบบโครงสร้างได้ออกแบบผิดพลาดมาตั้งแต่แรกและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้ ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีสัญญาณบอกเหตุว่าโครงเหล็กบางส่วนล้มลง แม้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสริมเหล็กค้ำยันโครงเหล็กก็กระทำเพียงบางส่วน แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่า ในวันเกิดเหตุพายุหมุนผิดธรรมชาติอันจะถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ ทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายล้มลงมา แต่โจทก์นำสืบว่า บริษัทเกรแฮม มิลเลอร์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายให้สำรวจความเสียหายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามรายงานเบื้องต้นภัยพายุฉบับที่ 2 เอกสารหมาย จ.7 หน้า 4 และ 6 ได้ระบุว่าวันเกิดเหตุเกิดพายุฝนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร บริษัทได้สอบถามกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อขอทราบความแรงของลมที่แน่นอน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้เหมือนกันในเรื่องของการออกแบบสนามซึ่งอาจจะไม่แข็งแรงเพียงพอหรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนนายณัฐ สุทธิสมบูรณ์ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของโจทก์เบิกความว่า ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่า ภัยอันเกิดจากพายุที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ได้รับคุ้มครองมิได้กำหนดไว้ว่าลมพายุจะมีอัตราความเร็วเท่าใด เพียงแต่กำหนดว่าเป็นลมพายุเท่านั้นส่วนกรมธรรม์ประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องตามเอกสารหมาย จ.4พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.5 ที่ระบุเงื่อนไขในข้อ 6 ว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองการสูญเสียใด ๆ ที่มีสาเหตุจากความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยหรือเนื่องจากหรือเป็นผลมาจากทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมจากปรากฏการณ์ต่อไปนี้ (ปี) ไต้ฝุ่น เฮอริน ทอร์นาโด ไซโคลน หรือการรบกวนอื่น ๆ ทางบรรยากาศ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเงื่อนไขที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองถึงต้องเป็นพายุหมุนในชื่อต่าง ๆ ดังกล่าว และการรบกวนอื่น ๆ ทางบรรยากาศที่มีลักษณะความรุนแรงโกลาหลผิดปกติธรรมชาติแต่พายุฝนในวันเกิดวินาศภัยเป็นพายุฝนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อพายุฝนดังกล่าวทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้า ซึ่งมีสต็อกของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 วรรคหนึ่ง
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เพียงใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีความรับผิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ทำไว้กับบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด เพราะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยไม่คุ้มครองถึงการทำละเมิดของบุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 5 ได้ระบุไว้ในช่องหมายเหตุว่า การประกันภัยรายนี้ได้ขยายความคุ้มครองการสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นจากลมพายุ ฯลฯ เปียกน้ำ ฯลฯ ตามเงื่อนไขแนบท้ายกรมธรรม์ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากภัยพายุที่ทำให้สต็อกสินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายไม่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตาม แต่พายุฝนที่เกิดขึ้นทำให้เสาโครงเหล็กและตาข่ายซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่ 2 ล้มทับคลังสินค้าเป็นเหตุให้สต็อกสินค้าของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด เปียกน้ำฝน ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 2ต้องรับผิดชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาในปัญหาแรกแล้ว โจทก์ซึ่งรับประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าและประกันภัยความเสียหายต่อเนื่องจากบริษัทดังกล่าวและกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเอกสารหมาย จ.3 ให้ความคุ้มครองจากภัยอันเกิดจากพายุและน้ำฝน จึงเป็นผลต่อเนื่องมาจากความผิดของจำเลยที่ 2 นั้นเอง ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเมื่อบริษัทเกรแฮมมิลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สำรวจความเสียหายของสต็อกสินค้าที่เอาประกันตามเอกสารหมาย จ.6 จ.8 จ.10 และ จ.12พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.7 จ.9 จ.11 และ จ.13 แล้วประเมินค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 15,846,156.85 บาท และโจทก์นำสืบฟังได้ว่า ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด ตามที่บริษัทเกรแฮม มิลเลอร์ (ประเทศไทย)จำกัด ได้ประเมินค่าเสียหายตามหลักฐานและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.14 ถึง จ.23 แต่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายของสต็อกสินค้าเป็นเงินเพียง 11,371,528.78 บาท โดยแยกความเสียหายหลายรายการได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้า อุปกรณ์สัญญาณความปลอดภัย สินค้าผลิตภัณฑ์ตราอาร์มสตรอง สินค้าเครื่องใช้และตกแต่งสำนักงาน สินค้าผลิตภัณฑ์ตราแคมป์ปิ้งแก็สสินค้าโลหะภัณฑ์ สินค้าเครื่องแก้วและแผ่นสติกเกอร์ ค่าซ่อมรถตัดหญ้า ค่าบูรณะซ่อมแซมอาคารและเครื่องใช้ให้คืนสภาพเดิมค่าขนย้ายซากทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายบรรเทาภัยล่วงหน้าแต่ฎีกาของจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแต่ละรายการไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องแต่ละรายการมีจำนวนค่าเสียหายเท่าไร ฎีกาของจำเลยที่ 2ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น ต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อจำเลยที่ 2 บุคคลภายนอกเป็นเงิน 11,371,528.78 บาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share