คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวในคำฟ้องแต่เพียงว่า โจทก์ไม่ได้ตกลงในการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินได้เนื้อที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดที่ดินแบ่งแยกที่ดินไปตามคำพิพากษาในคดีเดิมโดยไม่ปรากฏว่า โจทก์โต้แย้งคัดค้านว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินไม่ถูกต้อง จึงต้องถือว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อบังคับตามคำพิพากษาในคดีเดิมเป็นไปโดยถูกต้องและเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเดิมจะกลับมาฟ้องคดีนี้ โดยอ้างว่า ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำในคดีเดิมหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4044 ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่31 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา จำเลยที่ 5 เป็นนายอำเภอ จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 2 แปลง โดยแบ่งแยกจากแปลงเดิม เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4045 เนื้อที่ 18 ไร่44 ตารางวา และจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้ตกลงในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าว ขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 4045

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 75 มีชื่อนายกาสี ผงสา เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองต่อมาจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้แบ่งที่ดินออกเป็นเจ็ดส่วนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684/2535 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสี่ได้แบ่งกันครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนสัดและการแบ่งแยกที่ดินพิพาทได้กระทำโดยที่โจทก์ทั้งสามก็ทราบแต่ไม่ได้คัดค้าน จนเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4045 ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แล้วขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาการดำเนินการของจำเลยที่ 5 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4044ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4045ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 75 ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรีจังหวัดขอนแก่น อันเป็นที่ดินพิพาทตามฟ้อง เดิมเป็นของนายกาสีผงสา ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อนายกาสีถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นมรดกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เดิมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เคยฟ้องโจทก์ทั้งสามขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาทตามส่วน คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นมรดกของนายกาสีตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสี่(จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คดีนี้) และจำเลยทั้งสาม (โจทก์ทั้งสามคดีนี้)คนละส่วนเท่า ๆ กัน ให้จำเลยทั้งสาม (โจทก์ทั้งสามคดีนี้) ไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่ (จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คดีนี้)คนละส่วนภายใน 20 วัน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684/2535 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ดำเนินการยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการลงชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะเจ้าของรวมกับโจทก์ทั้งสามไว้ก่อน และขอเปลี่ยนเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งในการรังวัดเปลี่ยนมาเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ได้เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 (ซึ่งเป็นโจทก์คดีเดิม) ได้ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684/2535คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าการแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เป็นไปโดยชอบหรือไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งสามนำสืบว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ยินยอมด้วยในการแบ่งแยกที่ดิน โจทก์ทั้งสามต้องการที่จะนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน แม้จะปรากฏจากคำเบิกความของนายเสรยศ เพชรไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทว่า หลังจากดำเนินการรังวัดแบ่งแยกเสร็จแล้ว ได้ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ โจทก์ทั้งสามได้ทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่หลังจากนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบถามโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ซึ่งในวันนัดพร้อม ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะไปดำเนินการยื่นเรื่องราวต่อสำนักงานที่ดินอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เพื่อดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้คู่ความแต่ละคนมีส่วนคนละส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป โจทก์ทั้งสามไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นไปโดยไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ทั้งที่โจทก์ทั้งสามได้ทราบคำบังคับของศาลชั้นต้นแล้ว นอกจากนั้นยังปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมแล้วทนายความของโจทก์ทั้งสามได้ขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684/2535 โดยอ้างว่าเพื่อนำไปประกอบการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดีนี้ โจทก์ทั้งสามกล่าวในคำฟ้องแต่เพียงว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ตกลงในการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยที่ไม่ได้กล่าวอ้างว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินได้เนื้อที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสาม (จำเลยทั้งสามในคดีเดิม)และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (โจทก์ในคดีเดิม) เป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทของนายกาสี โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 หากโจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนได้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามโต้แย้งคัดค้านว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินไม่ถูกต้องจึงต้องถือว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อบังคับตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมเป็นไปโดยถูกต้องและเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความในคดีเดิมจะกลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในคดีเดิมหาได้ไม่ ทั้งปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share