แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๔๕
วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
นายบุญเฮ็ง เพริดพริ้ง และนางบันไลหรือวิไลหรือไล เพริดพริ้ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อ ศาลแพ่งว่า เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ เวลา ๒๑.๓๐ นาฬิกา นายถาวร ยังถิน พนักงานขับรถยนต์ฝ่ายหมวดตรวจและควบคุม (เก็บขนมูลฝอย) งานรักษาความสะอาด สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครได้ขับรถยนต์บรรทุกเก็บขนขยะ คันหมายเลขทะเบียน ๘ ผ – ๘๐๐๑ กรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งของกรุงเทพมหานคร ไปตามถนนอาจณรงค์มุ่งหน้าแยกกรมศุลกากร ในช่องเดินรถขวามือ ขณะที่กำลังจะผ่านแยกเข้าชุมชนล็อก ๖ คลองเตย นายถาวรได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเบี่ยงมาทางด้านขวาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน สุรินทร์ กนม ๙๐๓ ที่นายสมพง เพริดพริ้ง อายุ ๑๙ ปี ขับขี่มาอย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลงและรถยนต์บรรทุกเก็บขนขยะดังกล่าวยังได้ทับร่างนายสมพงจนถึงแก่ความตายแล้วนายถาวรได้ขับรถยนต์หนีไปทางแยกกรมศุลกากร โดยไม่หยุดรถยนต์และให้ความช่วยเหลือนายสมพงแต่อย่างใด นายบุญเฮ็ง เพริดพริ้ง และ นางบันไลหรือวิไลหรือไล เพริดพริ้ง บิดามารดาของนายสมพง ผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นนายจ้างผู้บังคับบัญชาของนายถาวรต่อศาลแพ่ง เรียกค่าขาดไร้อุปการะจำนวน ๑,๔๐๔,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายในการปลงศพจำนวน ๔๖,๓๓๕ บาท ค่าซ่อมแซมรถจักรยานยนต์จำนวน ๑๖,๑๒๔ บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น ๑,๔๖๖,๔๕๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ศาลแพ่งเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดและฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในทางละเมิดเป็นกรณีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
บิดามารดาของผู้ตายได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรุงเทพมหานคร ศาลปกครองกลางเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเฉพาะกรณีที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานขับรถ มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง หากแต่เป็นคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และมาตรา ๘๙ (๔) กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการให้บริการสาธารณะประการหนึ่ง เมื่อนายถาวร ยังถิน ผู้กระทำละเมิดในคดีนี้เป็นลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งพนักงานขับรถ ฝ่ายหมวดตรวจและควบคุม (เก็บขนมูลฝอย) งานรักษาความสะอาด สำนักงานเขตยานนาวา จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ตามคำนิยามศัพท์แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ การที่นายถาวรขับรถยนต์บรรทุกเก็บขนขยะในวันเกิดเหตุเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๕ ซึ่งในบัญชีแนบท้ายได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานขับรถ ไว้ว่า “ขับรถยนต์ ดูแลรักษาความสะอาด บำรุงรักษา แก้ไขข้อขัดข้องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของรถยนต์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย” การปฏิบัติหน้าที่ของ นายถาวรตามประกาศดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด เมื่อเกิดเหตุละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายถาวร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ กรณีจำต้องพิจารณาอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำทางกายภาพของเจ้าหน้าที่ เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ คือ การขับรถ ไม่ใช่การฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกละเมิดยังไม่พอใจในการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และความเสียหายในคดีนี้มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีละเมิดระหว่างนายบุญเฮ็ง เพริดพริ้ง และนางบันไลหรือวิไล หรือไล เพริดพริ้ง โจทก์ กรุงเทพมหานคร จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ศาลที่มีเขตอำนาจ ได้แก่ ศาลแพ่ง
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ