แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๔๕
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสวรรคโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นเอง ในระหว่างการพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของอีกศาลหนึ่ง แต่ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ นายธงชัย โทขุนทด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเทียน เงินมาก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย นายจักรกฤษณ์ ถาวรวิสิตย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน ๖ นายอนันต์ รัตนอุทัยกูล ช่างรังวัด ๔ นายวีระ อุบลนุช ช่างรังวัด ๕ และ นายฤทธิรงค์ ช่วยเพ็ญ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลก รวม ๕ คน เป็นจำเลยต่อศาลปกครองกลาง โดยนายธงชัยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. หมายเลข ๑๔ ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑๐ ตารางวา ซึ่งได้รับมอบมาจากมารดาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๑ และได้ทำประโยชน์ ตลอดจนเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินนี้ตลอดมา แต่เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๓ นายสอน คมขุนทดและนายบุญธรรม สุวรรณรัตน์ ได้โต้แย้งคัดค้านสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ของนายธงชัย และแจ้งให้นายเทียน เงินมาก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ทำการไกล่เกลี่ยและตรวจสอบพื้นที่จริง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินของนายธงชัยขาดไปไม่ตรงกับ น.ส.๓ ก. จึงได้มีการแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลกให้ทำการตรวจสอบและในขณะเดียวกันได้แจ้งนายสมชาย ศรียิ้ม กำนันตำบลคลองยางให้ทำการไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลกทำการตรวจสอบแล้วก็ยังปรากฏว่า ที่ดินมีเนื้อที่ขาดไปไม่ตรงกับ น.ส. ๓ ก. ซึ่งนายธงชัยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ ๑๖ ไร่ ๑๐ ตารางวา มาโดยตลอด นายธงชัยจึงได้ยื่นฟ้องบุคคลต่อไปนี้ต่อศาลปกครองกลางว่า
๑. นายเทียน เงินมาก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยวางตนไม่เป็นกลางปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
๒. นายจักรกฤษณ์ ถาวรวิสิตย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน ๖ ต่อเติมเอกสารไม่มีความจริง
๓. นายอนันต์ รัตนอุทัยกูล ช่างรังวัด ๔ ปลอมแปลงเอกสาร
๔. นายวีระ อุบลนุช ช่างรังวัด ๕ ชี้เขตไม่สมบูรณ์
๕. นายฤทธิรงค์ ช่วยเพ็ญ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลก รับรองเอกสาร ไม่ถูกต้อง
อีกทั้งบุคคลทั้งห้าดำเนินงานนานเกินสมควร จึงทำให้นายธงชัยเสียเวลาในการประกอบอาชีพและต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยใช่เหตุ และเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จรับรอง จึงขอให้ศาลพิพากษาให้บุคคลทั้งห้าชำระค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวให้แก่นายธงชัยเป็นจำนวนเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลกจัดทำ น.ส. ๓ ก. ให้ถูกต้องมีเนื้อที่ ตรงกับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามแนวเดิมที่นายธงชัยได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด ส่วนความผิดอื่น ๆ เช่น การปลอมแปลงเอกสาร ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะดำเนินการใด ๆ เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดในระหว่างพิจารณา ศาลปกครองกลางเห็นว่า เมื่อมีการคัดค้านการรังวัดสอบเขตเกิดเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การชี้ขาดสิทธิในทรัพย์สินจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองกลางจึงส่งความเห็นไปให้ศาลจังหวัดสวรรคโลกจัดทำความเห็นตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสวรรคโลกเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีเจตนารมณ์ฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นหลักแห่งข้อหา อันเป็นกรณีการเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับมาตรา ๗๒ (๓) ส่วนการฟ้องข้อหาอื่น ๆ เป็นกรณีการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และเป็นกรณีเอกชนฟ้องเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา ๖๙ ทวิ ซึ่งมิใช่การฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เพื่อใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลยุติธรรม ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องบุคคลทั้งห้าโดยมีข้อหาเกี่ยวพันกันหลายประการซึ่งรวมถึงกฎหมายอาญา แต่ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินงานที่นานเกินสมควร และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสวรรคโลกจัดทำ น.ส. ๓ ก. ให้ถูกต้องมีเนื้อที่ตรงกับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามแนวเดิมที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอดเท่านั้น ดังนั้น ในคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
(๑) การเรียกค่าเสียหาย อันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
(๒) การขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตรงกับการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง คดีที่มีหลายข้อหาอาจมีลักษณะดังนี้
ก. ข้อหาแต่ละข้อหามีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในกรณีนี้ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงในแต่ละข้อหาโดยไม่เกี่ยวข้องกัน
ข. ข้อหาหนึ่งเป็นหลักส่วนข้อหาอื่นเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องหรือปัญหาลำดับรอง ในกรณีนี้ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงในข้อหาหลักก่อนจึงจะพิจารณาข้อหาเกี่ยวเนื่องหรือข้อหาลำดับรอง ต่อไปได้
คณะกรรมการพิจารณาประเด็นในคดีนี้แล้วเห็นว่า ทั้งสองประเด็นในคดีนี้ต่างก็เป็นข้อหาหลักที่แยกออกจากกันได้ กล่าวคือ การเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ล่าช้าเกินสมควรจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินและความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนที่ดินที่ขาดไปจากการตรวจสอบหรือการรังวัดที่ดิน การเรียกค่าเสียหายในคดีนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวเนื่องลำดับรองของปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ซึ่งผู้ฟ้องคดี ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง เมื่อประเด็นพิจารณาทั้งสองต่างมีความสำคัญแยกต่างหากจากกัน ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวเนื่องลำดับรองระหว่างกันและไม่มีผลต่อคำวินิจฉัยที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาจากกันในศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
ในประเด็นแรก เมื่อผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ในการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งการพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือไม่ จะต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในกรณีนี้ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คือ ศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
สำหรับประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑๐ ตารางวา ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตรงกับการครอบครองและการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ในกรณีนี้จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินอย่างไร จำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายธงชัย โทขุนทด ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ ศาลปกครองกลาง ส่วนการขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตรงกับการครอบครอง ทำประโยชน์และการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสวรรคโลก
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ