คำวินิจฉัยที่ 4/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๔๕

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงราย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจ เช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นายเจริญ คำพิชัย กับพวกรวม ๒๕ คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องวัดพระธาตุเจดีย์หลวงและกรมที่ดิน เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงราย อ้างว่า ได้ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงตามระวาง ๕๐๔๙ IV ๑๒๔๐ เลขที่ ๗๓๕ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่รวม ๘ ไร่ ๒ งาน ๑๒ ตารางวา โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีใครอ้างสิทธิหรือแย่งการครอบครองแต่อย่างใด ทั้งนายเจริญกับพวกได้ก่อสร้างบ้าน มีเลขที่ตามที่ทางราชการออกให้และอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๐ วัดพระธาตุเจดีย์หลวงได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงที่นายเจริญกับพวกครอบครองทำประโยชน์ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน โดยอ้างว่าได้ที่ดินมาโดยบุกเบิกครอบครองและทำประโยชน์เป็นที่วัด ที่ประกอบศาสนกิจเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๓๓ โดยไม่ได้แจ้งการครอบครองไว้และมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๔ บางส่วน (ไม่เต็มแปลง) และเอกสารหลักฐานประวัติความเป็นมาของวัด และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน ได้ออกใบไต่สวนเพื่อรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดพระธาตุเจดีย์หลวง โดยนายเจริญกับพวกได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ตลอดมา ต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน มีคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๔๔ เรื่อง คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน แจ้งให้นายเจริญกับพวกทราบว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสนจะดำเนินการออกโฉนดที่ดินแก่วัดพระธาตุเจดีย์หลวง หากไม่พอใจให้ฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งดังกล่าว นายเจริญกับพวกเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการออกใบไต่สวนและโฉนดที่ดินดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะวัดพระธาตุเจดีย์หลวงมิได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด นายเจริญกับพวกจึงยื่นฟ้องวัดพระธาตุเจดีย์หลวงและกรมที่ดินต่อศาลจังหวัดเชียงรายขอให้เพิกถอนใบไต่สวน และโฉนดที่ดินแปลงตามระวาง ๕๐๔๙ IV ๑๒๔๐ เลขที่ ๗๓๕ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และออกโฉนดที่ดินแก่นายเจริญกับพวก ศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองจึงไม่รับฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
นายเจริญกับพวกจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องประสงค์ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทนั้น กรณีเป็น คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งเป็นคดีที่การวินิจฉัยขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นคดีแพ่งที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจในคดีแพ่ง ณ สถานที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า การพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายกำหนดให้ต้องฟ้องศาล เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใดให้เจ้าพนักงาน ที่ดินดำเนินการไปตามนั้น เช่น มาตรา ๖๐ วรรคสาม มาตรา ๖๑ วรรคห้า มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้าและวรรคหก เป็นต้น ซึ่งการโต้แย้งของนายเจริญกับพวกดังกล่าวเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิทธิในทรัพย์สิน จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน โดยในมาตรา ๑๒๙๘ บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้นท่านว่าจะก่อตั้งได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” การพิจารณาข้อพิพาท เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับคดีนี้การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณี ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกโฉนดมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ จึงได้แก่ ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายเจริญ คำพิชัย กับพวกรวม ๒๕ คน ฟ้องวัดพระธาตุเจดีย์หลวงและกรมที่ดิน เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงราย

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share