คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการจับกุมจำเลยตามหน้าที่ รวมทั้งมิได้มีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายกัดมือซ้ายสิบตำรวจโท ข. นั้น ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจะกลับเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ต้องเป็นกรณีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 มาตรา 219 และมาตรา 220 แห่ง ป.วิ.อ. เท่านั้น
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ มีเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในขั้นที่ถูกกล่าวหา ตามความในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นศาล เมื่อจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว มิใช่ผู้มีสถานภาพเป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด จึงล่วงพ้นเวลาและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่อาจได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 และ 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 และ 138 กับบวกโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และ 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุก 18 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการจับกุมจำเลยตามหน้าที่รวมทั้งมิได้มีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายกัดมือซ้ายสิบตำรวจโทขวัญใจนั้น ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจะกลับเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ต้องเป็นกรณีที่ต้องห้ามฎีกา ตามมาตรา 218 มาตรา 219 และมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยสมควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เพราะมีเมทแอมเฟตามีนเพียงเล็กน้อยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาให้ตกเป็นผู้ต้องหาตามความในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว มิใช่ผู้มีสถานภาพเป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด จึงล่วงพ้นเวลาและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่อาจได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้น แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แม้ระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจะเป็นคุณมากกว่าก็ตาม จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้าง และแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) สำหรับโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share