คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5975/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 และบรรยายฟ้องเกี่ยวกับถ้อยคำต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ให้เห็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อย่างไรด้วย และว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ 1 โดยขายให้จำเลยที่ 2 เป็นการทำนิติกรรมที่มีเจตนาไม่สุจริตและฉ้อฉลที่จะไม่ให้ที่ดินกลับคืนเป็นของโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดิน จำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจได้ว่าการไม่สุจริตและฉ้อฉลคือการที่จำเลยที่ 1 สมรู้กับจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดิน เพื่อมิให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ จึงเป็นคำฟ้องที่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงรวม 3 ครั้ง ต่างวันเวลากันจำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยดูหมิ่นโจทก์อย่างร้ายแรง ย่อมหมายความว่า ไม่เคยกล่าวคำหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใด ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้วจำเลยที่ 1 เบิกความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยด่าว่าโจทก์ โดยมิได้เบิกความถึงวันเวลาที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า วันเวลาดังกล่าวมิได้เป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดี แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้อง ก็ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 6,000ส่วน ในจำนวน 9,588 ส่วน โดยไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884และจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม2540 จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง กล่าวคือ เมื่อโจทก์จะหยิบสิ่งของมาใช้ จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า “อีห่ารากมึงจะมาค้นอะไรอีจัญไรฉิบหาย มึงจะเอาของกูไปใช้ทำไม มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป” และระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์เจ็บป่วย จำเลยที่ 1 ไม่เคยดูแล ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ขอเงินจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่ายาและค่ารักษาพยาบาล จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้เงินแก่โจทก์ทั้งยังได้ด่าโจทก์ว่า “ไม่ให้มึงอยากเป็นจะตายห่า มันก็ไม่ตาย จะมายุ่งกูทำไม” นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2540 ขณะที่โจทก์กำลังรับประทานอาหารอยู่ จำเลยที่ 1 ยังด่าโจทก์อีกว่า “อีห่าแดกแดกห่าแล้วมึงล้างถ้วยล้างจานด้วย” และพูดต่อไปว่า “มึงจะไปแดกที่ไหนก็ไป กูไม่เลี้ยงมึงแล้ว มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป” การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ผู้ให้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ จำเลยที่ 1 ท้าทายให้ไปฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตและฉ้อฉล ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะประพฤติเนรคุณ ขอให้ถอนคืนการให้และบังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่(สนามแจง) จังหวัดลพบุรี จำนวน 6,000 ส่วน ในจำนวน 9,588 ส่วน คืนแก่โจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่(สนามแจง) จังหวัดลพบุรีระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 กลับคืนแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ถือเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 และให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 แต่เป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนจำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติเนรคุณให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์หลงเชื่อตามคำยุยงของบุคคลภายนอกที่เสียประโยชน์จึงมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 โดยสุจริตมิได้ฉ้อฉลโจทก์ และฟ้องโจทก์ในส่วนที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะไม่มีการระบุว่าเป็นการฉ้อฉลอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตปราศจากการฉ้อฉลใด ๆ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 มีการฉ้อฉลกับจำเลยที่ 1 อย่างไรขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ (สนามแจง)จังหวัดลพบุรี กลับคืนเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกลับคืนแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ (สนามแจง)จังหวัดลพบุรี จำนวน 6,000 ส่วน ในจำนวน 9,588 ส่วนกลับคืนแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนโอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นมารดาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 และบรรยายฟ้องเกี่ยวกับถ้อยคำต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ในลักษณะให้เห็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อย่างไรด้วย และว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2540 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9516 ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านหมี่ (สนามแจง) จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้จำเลยที่ 1 โดยขายให้จำเลยที่ 2เป็นการทำนิติกรรมที่มีเจตนาไม่สุจริตและฉ้อฉล โดยร่วมกันที่จะไม่ให้ทรัพย์สินตกกลับคืนเป็นของโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่บรรยายว่าการทำนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาไม่สุจริตและฉ้อฉลนั้น จำเลยทั้งสองย่อมสามารถเข้าใจฟ้องได้ว่าความหมายของการไม่สุจริตและฉ้อฉลคือการที่จำเลยที่ 1 สมรู้กับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อมิให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1ประพฤติเนรคุณ จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาว่าที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ดูแลและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงครั้งที่ 2 จากระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2540 และวันที่ 20มีนาคม 2540 ตามฟ้องเดิมเป็นระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้อง ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเพราะเป็นการแก้ไขคำฟ้องในสาระสำคัญ และทำให้จำเลยทั้งสองไม่มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้อต่อสู้ใหม่ของโจทก์ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงรวม 3 ครั้ง ต่างวันเวลากัน จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติเนรคุณให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่โจทก์ ไม่เคยดูหมิ่นโจทก์อย่างร้ายแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์เป็นเท็จทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 ย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยกล่าวคำหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใด ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในระหว่างการสืบพยานโจทก์แล้ว ในการนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 เบิกความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยด่าว่าหยาบคายแก่โจทก์แต่อย่างใด โดยมิได้เบิกความถึงวันเวลาที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงทั้ง 3 ครั้ง ตามฟ้องอันเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า วันเวลาในการกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง มิได้เป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องโต้แย้งหักล้างคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับวันเวลาที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ โดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องก็ตาม แต่การที่จะให้มีการแก้ไขในข้อนี้ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะเป็นการมีคำสั่งให้แก้ไขในประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในคดีทั้งศาลล่างทั้งสองก็มิได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับวันเวลา ที่มีการแก้ไขดังกล่าวมาเป็นประเด็นชี้ขาดพิพากษาให้เพิกถอนคืนการให้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายทั้งสองประการมานั้น ชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share