แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติและพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพียงแต่กำหนดว่าที่ดินจะถูกเวนคืนท้องที่ใด อำเภออะไร กว้างที่สุดและแคบที่สุดเท่าไร เท่านั้น แม้จะมีแผนที่แนบ ก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนบ้างผู้ขายได้ซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นและขออนุญาตทำการปลูกสร้างอาคาร แล้วขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ซื่อโดยผู้ขายไม่รู้ว่าที่ดินถูกเวนคืน และความไม่รู้มิใช่เพราะความประมาทของผู้ขาย ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องที่ผู้ซื้อฟ้องว่าผู้ขายปกปิดความจริงเรื่องการเวนคืน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 กำหนดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เจ้าหน้าที่มอบสำเนาอันแท้จริงแห่งพระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมทั้งแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัตินั้นให้แก่ ………ที่ว่าการอำเภอหรือหอทะเบียนที่ดินในตำบลซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตั้งอยู่ เมื่อพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งให้สำนักงานที่ดินซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตั้งอยู่ทราบ เมื่อไม่แจ้งย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นกรรมการผู้ทำการแทน จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตดุสิต เป็นข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นนิติบุคคล และเป็นตัวแทนปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ ๕ จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๐๖๖ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร แล้วแบ่งเป็นแปลงย่อยก่อสร้างตึกแถวขายพร้อมที่ดิน ที่ดินพิพาทแบ่งแยกจากที่ดินดังกล่าว แล้วสร้างเป็นตึกแถวเลขที่ ๙๓๓ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ซื้อที่ดินพิพาทและตึกแถวเลขที่ดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในราคา ๔๒๐,๐๐๐ บาท และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาจำเลยที่ ๕ แจ้งแก่โจทก์ว่า ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวของโจทก์อยู่ในแนวเขตตัดถนนสายรัชดาภิเษก ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ ที่ดินและอาคารของโจทก์ไม่อยู่ในเกณฑ์จะได้ค่าทดแทน เพราะปลูกสร้างภายหลังประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตที่ดิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนแต่สมคบร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยทุจริตโดยจงใจและประมาทเลินเล่อออกใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าว และจำเลยที่ ๕ มิได้แจ้งไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการเวนคืนดังกล่าวเพื่อระงับการจดทะเบียนนิติกรรม เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินมาปลูกสร้างตึกแถวขายโดยไม่รู้ว่ากรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินแล้ว เจ้าของที่ดินเดิมและเจ้าพนักงานที่ดินไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ เมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิให้โจทก์ทั้งสองเจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่เคยทักท้วง จำเลยที่ ๑ กระทำโดยสุจริตไม่เคยปกปิดความจริงโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อเองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาท ไม่เคยขออนุญาตปลูกสร้างตึกแถว โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่มีนิติสัมพันธ์กัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการทุกประการ จำเลยที่ ๕ ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงสายรัชดาภิเษก ซึ่งมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ให้ทำการก่อสร้างอาคารในแนวทางได้ แต่ถ้าจะต้องรื้อถอนจะไม่ได้รับค่าตอบแทน และห้ามโอนกรรมสิทธิ์ประกาศของคณะปฏิวัติและพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายต้องทราบทั่วกัน จำเลยที่ ๕ ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้กรมที่ดินทราบ เป็นความบกพร่องของโจทก์เอง ขอใหยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๕ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้จะได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๓ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔ และพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนเมื่อวันที ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๗ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตามแต่ประกาศของคณะปฏิวัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพียงแต่กำหนดว่าที่ดินที่จะถูกเวนคืนอยู่ท้องที่อำเภออะไร กว้างที่สุดและแคบที่สุดเท่าไรเท่านั้น แม้จะมีแผนที่แนบก็ไม่อาจทราบได้ชัดว่า ที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนบ้าง จำเลยที่ ๑ นำสืบว่าไม่รู้ว่าที่ดินถูกเวนคืน และปรากฏตอนที่จำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินมา ก็ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีข้อขัดข้องประการใด การปลูกสร้างอาคารก็ได้รับอนุญาตด้วยดี ไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ ๑ สงสัยหรือเฉลียวใจว่าที่ดินจะได้ถูกเวนคืนแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินมาเป็นราคา ๑,๔๕๒,๐๐๐ บาท และได้รับอนุญาตให้ปลูกตึกแถว ๔ ชั้น ๒๙ ห้อง เป็นการลงทุนด้วยเงินเป็นจำนวนมาก หากจำเลยที่ ๑ รู้ว่าที่ดินถูกเวนคืนไม่น่าจะซื้อที่ดินและลงทุนสร้างตึกแถวดังกล่าว เพราะเสี่ยงต่อการได้รับค่าเสียหายทั้งทางด้านการเงินและชื่อเสียง คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ รู้ว่าที่ดินรายนี้ถูกเวนคืนแล้วกลับปกปิดความจริง นำมาสร้างตึกแถวและขายให้แก่โจทก์ทั้งสองและคนอื่น ๆ และตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นก็ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๙ บัญญัติว่า นอกจากที่จะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้เจ้าหน้าที่มอบสำเนาอันแท้จริงแห่งพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ พร้อมทั้งแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัตินั้น ๆ ไว้ ณ สถานที่เหล่านี้ คือ (ก) ที่ทำการเจ้าหน้าที่ (ข) ที่ทำการผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตั้งอยู่ และมาตรา ๔ บัญญัติว่า ” เจ้าหน้าที่ ” หมายความว่ากระทรวงทบวงกรมในรัฐบาลหรือทบวงการเมืองอื่น หรือบุคคลผู้กระทำเพื่อประโยชน์ของรัฐซึ่งมีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำหรือควบคุมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ แขวงลาดยาว พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่าให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ดังนั้น จำเลยที่ ๕ จะต้องมีหน้าที่แจ้งให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทราบตามมาตรา ๙ (ค) เมื่อจำเลยที่ ๕ มิได้แจ้งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๕ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๔๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๕ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง ๑,๐๐๐ บาท ค่าธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์