คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยฐานมีอาวุธปืนซึ่งมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แต่ไม่ริบปืนของกลาง อัยการโจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ริบปืนของกลาง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 ออกใช้บังคับโดยมีมาตรา 9 วรรค 1 เปิดโอกาสให้ผู้มีอาวุธปืนฯ มาขออนุญาตต่อนายทะเบียนในกำหนด 90 วันโดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนี้+ แม้คดีอยู่ในะหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระหว่างใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษายกฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๔๕ ถึงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๐๑ เวลากลางวัน และกลางคืน จำเลยมีอาวุธปืนเดี่ยวลูกซองขนาด ๑๒ ใช้ยิงได้ ๑ กระบอก เลขทะเบียน ก.ท. ๑๓๕๑๔๑ ของนายแวหะมะ แวอาแซ ผู้ตายซึ่งตายแล้วเกือบ ๖ ปี และมีกระสุนปืนลูกซองเบอร์ ๑๒ อีก ๒ นัด โดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลกะมิยอ อำเภอปัตตานี จังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔,๗,๗๒ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยและริบกระสุนปืน ส่วนอาวุธปืนได้จดทะเบียนรับอนุญาตแล้วไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบปืนของกลาง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ในระหว่างวันที่ใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งตามความในมาตรา ๙ เปิดโอกาสให้ผู้มีอาวุธปืนฯ มาขออนุญาตต่อนายทะเบียนในกำหนด ๙๐ วัน โดยผู้นั้นไม่มีโทษ จำเลยได้รับประโยชน์ตามข้อกฎหมายนี้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยและริบของกลางตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๙ วรรค ๑ บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืนฯ ไม่ว่าชนิดหรือขนาดใดซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าได้นำอาวุธปืนฯลฯ ดังกล่าวมาขอรับอนุญาตเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” จึงต้องถือว่า ในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระหว่างใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ พิพากษายืน

Share