แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๕
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดบัวใหญ่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกันให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงในคดี
นายไพโรจน์ การบรรจง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลบัวใหญ่ และนางสาวปวรี ศรัยสวัสดิ์ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดบัวใหญ่อ้างว่า เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๓ เด็กหญิงภณัฐฎา การบรรจง ถูกงูพิษกัดและมีผู้นำตัวส่งโรงพยาบาลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ขณะนั้นมีนางสาวปวรี ศรัยสวัสดิ์ ปฏิบัติหน้าที่แพทย์เวรประจำโรงพยาบาล ซึ่งนางสาวปวรีไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยเพื่อช่วยชีวิตตามวิสัยและพฤติการณ์ของแพทย์ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ กล่าวคือ นางสาวปวรีไม่ได้ฉีดเซรุ่มแก้พิษงูแก่เด็กหญิงภณัฐฎา แต่กลับให้น้ำเกลือและฉีดยาแก้ปวดแทน เป็นเหตุให้เด็กหญิงภณัฐฎาถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงเป็นการกระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงภณัฐฎา นายไพโรจน์ การบรรจง จึงได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลบัวใหญ่
ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และนางสาวปวรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานดังกล่าว ให้รับผิด ในผลการกระทำละเมิดโดยขอให้ชำระค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ เป็นจำนวนเงิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจังหวัดบัวใหญ่เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง คดีโจทก์จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๓) จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้อง และให้โจทก์ไปฟ้องคดียังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป
บิดาของผู้ตายจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา เพื่อเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลบัวใหญ่ และนางสาวปวรี ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า แม้การให้บริการทางสาธารณสุขจะเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนและในกรณีที่รัฐจัดบริการสาธารณะดังกล่าวเอง แพทย์ประจำซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยก็ตาม แต่การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปของแพทย์ซึ่งต้องเป็นตามกรอบหลักเกณฑ์ของจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมที่แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรควบคุมทางวิชาชีพกำหนดไว้ หากรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว มีสิทธิกล่าวโทษแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาลต่อแพทยสภาได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม และหากแพทยสภา ตรวจสอบพบว่ามีการประพฤติไม่ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมจริง ก็จะถูกดำเนินการตามมาตรการลงโทษที่กำหนดไว้ ซึ่งมีระดับตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนจนถึงเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เวชกรรม ดังนั้น จึงเห็นว่ากรณีนี้มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจตามกฎหมาย ความเสียหาย อันเกิดจากการรักษาพยาบาลไม่ถูกต้องจึงมิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๒๗๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ศาลปกครองนครราชสีมาจึงไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณา
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๗ กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ การสาธารณสุข การส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพอนามัย การควบคุมอาหารและยา รวมทั้งสิ่งที่ อาจเป็นพิษหรือเป็นภัยแก่สุขภาพอนามัยและการกำกับ ดูแลและส่งเสริมกิจการกาชาด ซึ่งเป็นการให้บริการสาธารณะประการหนึ่ง โดยมีโรงพยาบาลบัวใหญ่เป็นหน่วยงานในสังกัดและนางสาวปวรี ศรัยสวัสดิ์ ผู้กระทำละเมิดเป็นแพทย์ประจำ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามคำนิยามศัพท์แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ การที่นางสาวปวรีปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลบัวใหญ่ในวันเกิดเหตุถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการแพทย์การสาธารณสุขเมื่อเหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวปวรี ซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยูในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้กรณีจำต้องพิจารณาอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐโดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำทางกายภาพของเจ้าหน้าที่เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ คือ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไม่ใช่การฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกละเมิดยังไม่พอใจในการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑ ประกอบกับมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ ความเสียหายในคดีนี้มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีละเมิดระหว่างนายไพโรจน์ การบรรจง โจทก์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลบัวใหญ่ และนางสาวปวรี ศรัยสวัสดิ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ศาลที่มีเขตอำนาจ ได้แก่ ศาลจังหวัดบัวใหญ่
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ